เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเข้ารายงานตัวเป็น สว.ชุดใหม่ ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดให้รายงานตัว 3 วัน คือ  ตั้งแต่วันที่ 11-12 ก.ค. และ วันที่ 15 ก.ค. ทั้งนี้พบว่า นายสมชาย เล่งหลัก สว.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ได้เข้ารายงานตัวต่อวุฒิสภาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการจับตาถึงการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของนายสมชาย เนื่องจากขณะนี้เป็นผู้ที่ถูกร้องว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้ง สส. ครั้งที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาให้พิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งล่าสุดนั้น ศาลฎีกาได้รับคำร้องในคดีหมายเลขดำ ที่ ลต. สส. 4/2567 ไว้พิจารณาแล้ว และเมื่อ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว ทำให้เป็นที่วิจารณ์ว่า นายสมชาย ในฐานะ สว. มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ในวุฒิสภาหรือไม่

โดยนายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า นายสมชาย ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล และยังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงสามารถเข้ารายงานตัวเป็น สว.ใหม่ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นคนละกรณีของนายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เพราะมีข้อกฎหมายที่ระบุไว้ชัดเจน

“เมื่อศาลฎีกายังไม่พิพากษาถึงที่สุด และอยู่ระหว่างพิพากษา จะถือว่าเขาขาดคุณสมบัติไม่ได้ อีกทั้งในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้สมัคร สว. หรือ สว. ไม่ได้กำหนดบทบัญญัติให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่เหมือนกับการกำหนดไว้ในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สส. อีกทั้งเมื่อศาลไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องทำหน้าที่ต่อไป” นายเจษฎ์ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวหากมองในแง่จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองได้หรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสามารถยื่นให้ตรวจสอบได้ โดย กกต. หรือ สว.ด้วยกันเอง แต่เข้าใจว่า ขณะนี้ สว.ยังทำไม่ได้ เพราะต้องรอกล่าวคำปฏิญาณตนในที่ประชุม จึงจะถือว่าทำหน้าที่ สว.ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนเมื่อปฏิญาณตนแล้วจะมีผู้ยื่นหรือไม่ ต้องว่ากันอีกครั้ง

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต สว. ให้ความเห็นด้วยว่ากรณีที่นายสมชาย มีคดีที่รอการพิจารณาจากศาล เมื่อครั้งเป็นผู้สมัคร สส. ถือเป็นคนละกรณีกับการลงสมัคร สว. หรือได้รับตำแหน่งเป็น สว. เนื่องจากตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้ชัดว่า คนที่จะขาดคุณสมบัติต้องอยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างการระงับใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ในคดีเดิมของนายสมชาย ไม่ได้เข้าข่ายทั้ง 2 ประเด็น ดังนั้นถือว่าไม่มีเหตุ และเขาสามารถทำหน้าที่ สว.ต่อไปได้

นายเสรี กล่าวด้วยว่า ส่วนที่ใครมองว่าในแง่จริยธรรมนั้นไม่เหมาะสมจะใช้ช่องเข้าชื่อ สว. เพื่อยื่นให้ตรวจสอบการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ต้องทำตามกระบวนการ คือให้องค์กรที่มีหน้าที่ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ไม่สามารถเอาความรู้สึกหรือความเห็นส่วนตัวไปชี้ว่าเขาต้องพ้นจากตำแหน่งไปได้  รวมไปถึงต้องพิจารณาในข้อกฎหมายด้วยว่ากำหนดบทให้ขาดคุณสมบัติหรือเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามอย่างได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ศาลฎีกายังไม่ได้ชี้ชัดเป็นที่สุด

เมื่อถามว่า กรณีที่กฎหมายกำหนดคุณสมบัติ สว. ที่ไม่เหมือนบรรทัดฐานของ สส. กรณีถูกยื่นให้ตัดสิทธิหรือเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้ง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ถือเป็นช่องโหว่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า “เมื่อกฎหมายกำหนดไว้อย่างไร ต้องยึดถือแบบนั้น”.