เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่บ้านเนินสูง หมู่ 8 ต.ช้างข้าม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี บริเวณปากแม่น้ำพังราด นายพีระศักดิ์ สนั่นเครื่อง นายอำเภอนายายอาม เปิดกิจกรรมปราบปลาหมอคางดำลุ่มน้ำพังราด ที่สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอ สถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี เทศบาลตำบลช้างข้าม ชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจันทบุรี และสหกรณ์เลี้ยงกุ้งจันทบุรี ร่วมกันจัดขึ้น ภายใต้กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “ล่าปลาหมอคางดำ มหันตภัยลุ่มน้ำพังราด” โดยได้เลือกพื้นที่ตำบลช้างข้าม เป็นพื้นที่นำร่อง kick-off เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลลุ่มน้ำพังราด ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเรือเล็กพื้นบ้าน

โดยในระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา พบปัญหาจากปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นปลาที่ดุร้ายและทำลายระบบนิเวศในท้องทะเล ทำให้สัตว์น้ำสูญหายเกือบหมด จึงได้จัดกิจกรรมแข่งขันจับปลาหมอคางดำ และการแข่งขันประกอบอาหารจากปลาหมอคางดำ จัดนิทรรศการเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ ปล่อยปลากะพงที่เป็นนักล่าลูกปลาหมอคางดำขึ้น หวังลดปริมาณและเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสแก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน

ด้านนายนิวัติ ธัญญะชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด และคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระดับชาติ กล่าวว่า ตอนนี้ปลาหมอคางดำที่นำเข้าจากกานาในปี 2535 กำลังระบาดหนักใน 3 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ นอกจากนี้ ยังระบาดถึงนครศรีธรรมราชและสงขลา ทางกรมประมงได้ส่งคณะทำงานสำรวจเพิ่มเติมในหลายจังหวัดในภาคตะวันออก ระบาดที่หนักที่สุดที่ระยอง และจันทบุรี โดยเฉพาะอำเภอท่าใหม่ และอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งปลาหมอคางดำกินสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น กุ้ง หอย ปู และปลาขนาดเล็ก ทำลายวงจรห่วงโซ่อาหารในแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งยังมีลูกที่อมไว้ในปากและปล่อยออกมากินไข่สัตว์น้ำ ส่งผลให้สัตว์น้ำลดลง ชาวบ้านจับสัตว์ทะเลได้ยากขึ้น การแพร่ระบาดนี้ ส่งผลกระทบต่ออาชีพของชาวประมงอย่างมาก

ซึ่งวันนี้ทางจันทบุรีได้เริ่มรณรงค์จับปลาหมอคางดำมาทำอาหาร โดยหวังให้ราคาซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท และมีการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์กำจัดซากปลาเพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปลาหมอคางดำสามารถอยู่ในน้ำเค็มและน้ำจืดได้ดี และทนต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรง การจัดการนี้จำเป็นต้องให้ชุมชนร่วมมือกัน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว นอกจากนี้จะได้ประสานความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยบูรพา ในการวิจัยและแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน และใช้วิกฤติครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาส พัฒนาและสร้างความยั่งยืนในชุมชนต่อไป