นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า เอ็ตด้า ได้เก็บสถิติการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA (Online Fraud and Complaint Center) ในช่วงครึ่งปีแรก ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. 67 พบว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ ของ 1212 ETDA เข้ามาทั้งหมด 11,629 เรื่อง โดยเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือปัญหาซื้อขายออนไลน์ เช่น อาหารเครื่องดื่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 45.67% รองลงมาคือปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เช่น เว็บพนัน 35.38% ปัญหาอื่นๆ ที่พบอีก 18.95% จะมีทั้งในเรื่อง ปัญหาการหลอกลวงลงทุน หลอกให้ทำงานออนไลน์ และปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

ชัยชนะ มิตรพันธ์

“หากเทียบกับปี 66 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่าสถิติการรับเรื่องปัญหาออนไลน์ในปี 67 ลดลงจากปีก่อนหน้ามากกว่าครึ่ง โดยปี 66 พบปัญหาร้องเรียนทั้งหมด 24,212 เรื่อง แม้ตัวเลขในภาพรวมจะลดลงอันเนื่องมาจากการยกระดับการทำงานในการรับเรื่องร้องเรียนและการให้การช่วยเหลือ ส่งต่อของศูนย์ 1212 ETDA ที่ได้บูรณาการความร่วมมือในการทำงานแบบเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน แต่เมื่อพิจารณาปัญหาที่พบการร้องเรียนมากที่สุด 2 อันดับแรก ที่ยังคงครองเเชมป์อย่างต่อเนื่อง ทั้งปี 66 และปีนี้ คือ ปัญหาซื้อขายออนไลน์ และ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ขณะที่ในเดือน พ.ค. นี้ ปัญหาแก๊ง Call Center และ SMS หลอกลวง ก็ระบาดหนักและได้รับการพูดถึงอย่างมากในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย”

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และการให้บริการ Digital ID ที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ทางเอ็ตด้า ได้เร่งพัฒนาการดำเนินงานในหลายมิติ ตั้งแต่การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีความใกล้ชิดกับคนไทยที่ตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า 15 ประเภทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายออนไลน์ การใช้บริการแพลตฟอร์มในรูปแบบต่างๆ การติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงการโฆษณาทางออนไลน์ เป็นต้น เพื่อยกระดับบริการให้มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลตนเองของแพลตฟอร์ม ภายใต้กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่มาพร้อมคู่มือแนวปฏิบัติในการให้บริการดิจิทัล เช่น คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ และคู่มือการดูแลโฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีคู่มือการดูแลการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดของร่างคู่มือที่เป็นผลมาจากการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการประชุมร่วมกับหน่วยงานและผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

Fraud Scam Phishing Caution Deception Concept

นอกจากกลไกการกำกับดูแลแล้ว เอ็ตด้า ยังมุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยรู้ทันปัญหาออนไลน์ ผ่านแคมเปญต่างๆ ของ 1212 ETDA ที่ร่วมกับพันธมิตรลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ในทุกมิติแก่ประชาชนใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาและยกระดับความรู้ของพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพภายใต้หลักสูตร EDC (ETDA Digital Citizen) ที่ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กับการเร่งสร้าง EDC Trainer ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยส่งต่อความรู้ อัปเดตภัยออนไลน์และแนวทางในการใช้โซเชียลมีเดียอย่างรู้เท่าทันสู่ชุมชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในการใช้บริการดิจิทัลในทุกมิติให้กับผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น.