นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ให้ชี้แจง และตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตรวจสอบความคุ้มค่า และประสิทธิภาพของระบบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (PVS: Passenger Validation System) ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ระบบดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีส่วนหนึ่งของกระบวนการให้บริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง นำมาใช้เพื่อช่วยตรวจสอบข้อมูลการเดินทางผู้โดยสารก่อนเข้าพื้นที่หวงห้ามในท่าอากาศยาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยาน และช่วยเรื่องการคัดกรองผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งช่วยลดความหนาแน่นให้การไหลเวียนของผู้โดยสาร (Passenger Flow) มีความคล่องตัวเพิ่มสูงขึ้น และยังช่วยลดการใช้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจอีกด้วย 

นางมนพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้นำเทคโนโลยีการตรวจสอบด้วยระบบอัตลักษณ์บุคคล (Biometric) มาใช้ตรวจสอบเพิ่มเติมที่ระบบ PVS เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร สอดคล้องกับแนวคิดการใช้งาน OneID ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Transport Association: IATA) ซึ่งหลังจากที่ ทอท. นำระบบ PVS มาใช้งานทำให้ระยะเวลาในการคัดกรองผู้โดยสารลดลงจากเดิม โดยหากใช้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคัดกรอง จะใช้เวลาประมาณ 10-15 วินาทีต่อคน แต่ถ้าใช้งานระบบยืนยันตัวตน ผู้โดยสารจะใช้เวลาอยู่ 2-3 วินาทีต่อคน 

นางมนพร กล่าวอีกว่า จากประสิทธิภาพของระบบที่กล่าวมาข้างต้น ทอท. จึงได้นำมาใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบคัดกรองผู้โดยสารเข้าพื้นที่หวงห้ามในท่าอากาศยาน ซึ่ง ทอท. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และแผนการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ส่งผลให้ผู้โดยสารเกิดความพึงพอใจที่ได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย และถูกต้องแม่นยำ มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล รวมทั้งสอดรับกับนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี และสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 150 ล้านคนต่อปี    

นางมนพร กล่าวด้วยว่า ระบบยืนยันตัวตนผู้โดยสารดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้บริการผู้โดยสารขึ้นเครื่องที่ไม่ใช่รูปแบบสัญญาการให้สิทธิและสัมปทาน แต่เป็นรูปแบบสัญญาจ้างเหมาบริการ โดย ทอท. ดำเนินการหาด้วยวิธีคัดเลือกตามขั้นตอน และแข่งขันด้วยความเป็นธรรม เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และส่งเสริมธรรมาภิบาล 

สำหรับความคุ้มค่านั้น ทอท. คำนวณต้นทุนค่าบริการระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing System: CUPPS) จากการนำระบบมาใช้งาน ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โดยมีการคิดคำนวณต้นทุนค่าบริการจากรายละเอียดต้นทุนที่เกี่ยวข้องในการบริการ เพื่อกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าบริการที่เหมาะสม 

ที่ผ่านมาทาง ทอท. มีการเรียกเก็บค่าบริการตรวจบัตรผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Facilitation Fee) จากผู้โดยสารขาออก (Departure Passenger) ในอัตรา 30 บาท ต่อคน ซึ่ง ทอท. เรียกเก็บจากทุกสายการบินที่ทำการบินในแต่ละท่าอากาศยาน สำหรับรายได้ที่ส่งให้รัฐนั้น ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดมหาชน ซึ่งมีการนำส่งรายได้ในรูปแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามที่กรมสรรพกรกำหนด ปัจจุบันนำส่งภาษีเงินได้ในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ โดย ทอท. นำรายได้มาพัฒนา และปรับปรุงท่าอากาศยาน เพื่อให้มีบริการที่ดีและมีคุณภาพแก่ผู้โดยสาร.