โดยมี นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยืนยันการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งขัดกับความรู้สึกของบรรดา “ผู้สมัคร สว. ที่ตกสวรรค์” ไม่ผ่านการคัดเลือก ออกมาร้องเรียนกว่า 800 เรื่อง เพราะเชื่อว่ามีการฮั้ว มีการจัดตั้งลงคะแนนเกาะกลุ่มกัน แบบผิดสังเกต มีการแจกโพย เป็นการเลือกที่ไม่สุจริต เที่ยงธรรม หากประกาศรับรอง สว. ไป ก็อาจจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 หรือแม้ว่า กกต. ได้ประกาศผลรับรอบเลือก สว. ไปก่อน แล้วตามไปสอยภายหลัง ก็อาจนำไปสู่การฟ้องร้องปลายทางอยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการมืองได้อีก ซึ่ง “7 อรหันต์” จะต้อง ลุยไฟ ต่อไปอีก

ในส่วน “สว.ป้ายแดง” ต้องไปรับใบรายงานตัวที่ กกต. วันที่ 11-12 ก.ค. 67 จากนั้นไปรายงานตัวที่รัฐสภา ใน 3 วัน คือ วันที่ 11, 12 และ 15 ก.ค. 67 ซึ่งตามขั้นตอนหลังเปิดให้รายงานตนครบถ้วน เลขาธิการวุฒิสภาจะมีหนังสือการนัดประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อให้ สว. 200 คน กล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ และจะเป็นวาระการเลือก ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภา ตามลำดับ

ซึ่งตัวเต็ง ประธานวุฒิสภา นาทีนี้ต้องยกให้ “บิ๊กหมง” มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ลงสมัคร สว. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงจาก จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นสายตรง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” หนึ่งในมือพระกาฬ ที่ทำงานรู้ใจกันมานาน และ “บิ๊กหมง” ถือเป็น นักปกครอง ที่มากบารมี คนหนึ่ง ในแวดวงคนมหาดไทย

ขณะที่ “สว.กระดูกเหล็ก” ที่รอดจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกปี 65 ราว ปาฏิหาริย์ “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์  อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.และ มทภ.4 อดีตทหารคนดัง เพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปี 2561 (วปอ.61) กับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งความสัมพันธ์ไม่ใช่แค่คนรู้จักธรรมดา แต่ทั้งคู่คือ “เพื่อนรัก เพื่อนซี้”  เป็นอีกหนึ่ง “มือกระกาฬ” ก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญของวุฒิสภาชุดนี้  

โดยภารกิจหลักของ “วุฒิสภา” ชุดนี้ ที่ถูกมองว่าเป็น “สว.สีน้ำเงิน” ภายใต้การกุมบังเหียนของ “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ ที่มี สว. ถึง 137 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ จุดดุลอำนาจของพรรคภูมิใจไทย ผงาดและโดดเด่นขึ้นมาทันที กับ สัญญาณพิเศษ ที่ส่งตรงมาถึง “เสี่ยหนู” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มี สส. 71 เสียง ในสภา ทำให้ ณ เวลานี้ถูกจับตามองถึงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนต่อไปทันที

ยิ่งภารกิจสำคัญของ “สภาสูง” ที่รออยู่ข้างหน้า ได้แก่ 1. การให้ความเห็นชองศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมากมาย ในช่วงปี 2567-2571 ได้แก่ ประธานศาลปกครองสูงสุด นายประสิทธิศักดิ์ ที่วุฒิสภาชุดเก่ารอให้ความเห็นชอบอยู่ อัยการสูงสุด นายไพรัช ที่วุฒิสภาชุดเก่ารอให้ความเห็นชอบอยู่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลการรัฐธรรมนูญที่จะครบวาระ 2 คน กรรมการ ป.ป.ช. 5 คน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน

2. การพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  รวมไปถึง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 (งบฯ กลางปี 67) เพื่อจัดทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า จะมีการเสนอเข้าสู่สภาในวันที่ 17 ก.ค. นี้ คาดว่าจะส่งต่อให้วุฒิสภากลาง ส.ค. 

นอกจากนี้ ปัญหานโยบายเรือธงของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล คือ “ภูมิใจไทย-เพื่อไทย” อย่างเรื่อง “กัญชา-ดิจิทัลวอลเล็ต” ยังไม่ชัดเจน จึงน่าสนใจถึงท่าที “ขั้วอำนาจ” ของ “สภาสูง” จากนี้ไป จะมีความเคลื่อนไหว ทางการเมืองอย่างไร??.