เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ และคณะ อาทิ  นายชัชวาล แพทยาไทย  ส.ส.ร้อยเอ็ด เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย  แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมของคณะ กมธ. ในวันนี้ได้มีการพิจารณาเรื่อง มาตรการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 โดยมีผู้แทนจากกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นางสุมิตรา ภู่วโรดม ผู้ทรงคุณวุฒิศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เข้าร่วมประชุม

นายศักดินัย กล่าวว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 67 โดยภาครัฐสนับสนุนค่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร และสนใจเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความเห็นว่า ควรโอนเงินค่าสนับสนุนปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรโดยตรง เพื่อให้สามารถเลือกซื้อปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอในการจ่ายสมทบเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และในบางพื้นที่ได้ล่วงเลยระยะเวลาการใช้ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในการเพาะปลูกข้าวแล้ว

นายศักดินัย กล่าวต่อว่า โดยคณะ กมธ. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1.รัฐบาลควรยกเลิกโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 เนื่องจากยังพบข้อจำกัดหลายประการ แต่หากมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการฯ ควรกำหนดให้เกษตรกรมีสิทธิได้เลือกซื้อปุ๋ยเองตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง และควรเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกำหนดแนวทางการทำงานอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรชาวนาอย่างแท้จริง อีกทั้งควรกำหนดมาตรการหรือโครงการอื่นในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคู่ขนานกับโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์และตรงตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

2. กรมการข้าว ควรกำหนดสูตรปุ๋ยและยี่ห้อปุ๋ย ทั้ง 14 สูตร ที่มีธาตุอาหารถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความหลากหลาย และมีคุณสมบัติสอดคล้องกับพันธุ์ข้าวและสภาพพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพและช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อย่างแท้จริง และควรจัดหาผู้ประกอบการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีจำนวนหลากหลายเพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร ทั้งนี้ ราคาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่จำหน่ายตามโครงการฯ จะต้องเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการให้เกษตรกรสมทบเงินเพื่อซื้อปุ๋ยด้วยครึ่งหนึ่ง ดังนั้น จึงควรให้เกษตรกรได้มีสิทธิในการเลือกสูตรปุ๋ยและยี่ห้อปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการฯ

3. กรมการข้าวและ ธ.ก.ส. ควรคำนึงถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอในการจ่ายสมทบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4. กรมวิชาการเกษตร ควรกำหนดมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์จากผู้ประกอบการปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการปลอมปนปุ๋ยไม่ได้คุณภาพ และต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในปัจจุบันกว่า 186 บริษัท โดยต้องยึดหลักการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต 5. กรมส่งเสริมสหกรณ์ ควรคำนึงถึงแนวทางการดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสในการจ่ายเงินจากสหกรณ์การเกษตรให้กับผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยและชีวภัณฑ์

6. กรมส่งเสริมการเกษตร ควรกำหนดมาตรการการขึ้นทะเบียนและประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ครอบคลุมและทันต่อระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการฯ 7. กรมการค้าภายใน ควรกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต คุ้มค่างบประมาณ เป็นไปตามวินัยการเงินการคลังของรัฐ และครอบคลุมความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยเฉพาะโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว.