นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า ศน. ได้จัดโครงการฝึกหัดนักสวดพระมหาชาติคำหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2567 โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์สมชัย เกื้อกูล และอาจารย์จำลอง ธงไชย ผู้เชี่ยวชาญการสวดพระมหาชาติคำหลวงเป็นวิทยากรอบรม เพื่อฝึกซ้อมนักสวดที่จะไปสวดในงานพระราชพิธีทรงบําเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2567 และเพื่อเป็นการสืบสานการสวดพระมหาชาติคำหลวง ที่เริ่มมีการสวดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
อธิบดี ศน. กล่าวต่อไปว่า สำหรับพระมหาชาติคำหลวง เป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับอดีตพระชาติของพระพุทธเจ้าในชาติที่ 10 คือพระมหาเวสสันดรชาดก เล่าถึงเมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ได้บำเพ็ญทานบารมีอันเป็นยอดหลายประการ มีการแจกทานเป็นนิจ โดยแบ่งเป็นตอนเป็นหมวดถึง 13 หมวดหรือ 13 กัณฑ์ ตามธรรมเนียมการสวดพระมหาชาติคำหลวงจะสวดทุกวันพระในระหว่างเข้าพรรษา ปัจจุบันคงเหลือแต่สวดเพียงกัณฑ์มหาพนเท่านั้น โดยนักสวดจะเป็นข้าราชการกรมการศาสนา แต่งกายด้วยการนุ่งผ้าขาวแบบโจงกระเบนสวมเสื้อเครื่องแบบปกติขาว (ราชปะแตนหรือชุดเครื่องแบบปกติขาว) สวมถุงเท้าสีขาวยาวเสมอเข่า ตั้งเตียงสวดต่อท้ายอาสน์สงฆ์ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกระบะบูชาปักธูปเทียน สมุดที่ใช้บันทึกพระมหาชาติคำหลวงเป็นสมุดไทยดำเขียนตัวหนังสือด้วยหรดาลและมีเครื่องหมายบอกทำนองสวดกำกับไปทุกวรรค
นายชัยพล กล่าวอีกว่า ในปีนี้ การสวดพระมหาชาติคำหลวง มีกำหนดการ ดังนี้ เทศกาลเข้าพรรษา ตรงกับวันที่ 19-21 ก.ค. 2567 กลางพรรษา ตรงกับวันที่ 1-3 ก.ย. 2567 และออกพรรษา ตรงกับวันที่ 16-18 ต.ค. 2567 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีนักสวดพระมหาชาติคำหลวง 4 คน ได้แก่ นายปิยวัฒน์ วงษ์เจริญ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ นายเฉลิมชัย ดงจันทร์ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ นายทินวุฒิ บัวรอด นักวิชาการศาสนพิธี และนายณัฐพล เกิดเอี่ยม นักวิชาการศาสนพิธี ซึ่งนักสวด 4 คนนี้ เป็นผู้สวดที่คล่องแคล่วและแม่นยำในอักขระ เพราะต้องสวดเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังมีการสวดพระมหาชาติคำหลวงในงานพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งจะมีนักสวดพระมหาชาติคำหลวงสวดในเวลาอื่นๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
“นักสวดพระมหาชาติคำหลวง ต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างหนัก ต้องฝึกสอนกันแบบวรรคต่อวรรค คำต่อคำ เนื่องจากในการสวดพระมหาชาติคำหลวงมีการออกเสียงที่ยาก บางคำเขียนเหมือนกันแต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน การออกเสียงทั้งเสียงสูง กลาง ต่ำ เสียงสั้น ยาว จำเป็นต้องหากลุ่มบุคคลที่เสียงมีความเข้ากันได้ประสานเสียงจนเกิดความไพเราะ และพร้อมจะเป็นทีมเดียวกัน เนื่องจากกว่าจะฝึกจนสวดได้คล่อง 1 บท อาจต้องใช้เวลาถึง 1 ปี อีกทั้งการสวดให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีด้วย” อธิบดี ศน. กล่าว