ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 67 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ในขณะที่ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาสัมพันธ์โครงการโดยการประกาศจับตาย คดีแดงที่ 14/06/2567 ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ กำจัดให้สิ้นซาก ซึ่งสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง สร้างความสนใจจากนักตกปลา นักล่าปลาทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง

คืบหน้าเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสการร่วมกิจกรรมคิกออฟกำจัดปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ในบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สร้างความกระตือรือร้นและการเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทีมนักล่าหรือพรานปลาจากต่างอำเภอ และต่างจังหวัดทั้ง กระบี่ สงขลา ตรัง และพัทลุง ได้ประสานผ่าน นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ปากพนัง และสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง รวมทั้งชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่สนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำดังกล่าว ทำให้ยอดจำนวนผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่คาดไว้ในเบื้องต้นว่าประมาณ 200 คน เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 300 คน นอกจากนี้มีบรรดาพ่อค้า แม่ค้าจากต่างพื้นที่แจ้งความจำนงขอมาตั้งจุดรับซื้อ กก.ละ 20 บาท อีกหลายรายอีกด้วย

พรานล่าปลาปักหลัก

ในขณะที่นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร และแกนนำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กำจัดปลาหมอคางดำ พร้อม นายเอกชัย ทรัพย์นวล อายุ 50 ปี ซึ่งมีอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งถูกภัยปลาหมอคางดำ แพร่ระบาดกินทั้งอาหารกุ้งและลูกกุ้งในบ่อจนเกลี้ยงขาดทุนย่อยยับ กว่า 3 แสนบาท ทำให้เดือดร้อนไม่มีเงินทุนในการประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำในรอบต่อไป จึงเดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากกรมประมง และรัฐบาล ผ่าน นายกิตติพงษ์ รองเดช นายอำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดย นายเดชาธร ตันทนทินภัทร ปลัดอำเภอ เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายเอกชัย กล่าวว่า ตนได้รับความเสียหายจากปลาหมอคางดำ ได้เข้ามาบุกรุกคุกคามบ่อเพาะเลี้ยงกุ้ง ได้กินกุ้งหมดบ่อทำให้หมดเงินทุนในการต่อยอดประกอบอาชีพ เพราะทุนหายกำไรหด หมดกว่า 3 แสนบาท ประกอบด้วย ค่าเตรียมบ่อ ค่าครุภัณฑ์ ค่าพันธุ์ลูกกุ้ง ค่าไฟฟ้า ค่าเสื่อมสภาพจิตใจในการประกอบอาชีพ ซึ่งได้ร้องเรียนแจ้งให้สภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับทราบเบื้องต้นแล้ว

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการสำรวจความเสียหาย ตนได้ทำหนังสือแจ้งให้ท่านนายอำเภอได้รับทราบปัญหา ในด้านสภาพจิตใจ การลงทุนลงแรง ขาดทุน หมดเนื้อหมดตัว ให้ท่านได้สั่งการประมงอำเภอปากพนังได้ลงสำรวจความเสียหาย และเรียกร้องให้ชดเชยเยียวยาให้นายเอกชัย และเกษตรกรรายอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย อยากกราบวิงวอนกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งรัฐบาลเอาจริงเอาจัง อย่านิ่งนอนใจปัญหาลุกลามขยายผล ขยายพื้นที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เร่งดำเนินการอนุมัติงบประมาณให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตามมาตรฐานต่างๆ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ ก่อนที่ปัญหาจะแพร่ระบาดขยายลุกลามรุนแรงไปมากกว่านี้

“รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือชาวบ้านในระดับฐานราก ซึ่งหากยังไม่มีงบประมาณก็ให้แต่ละจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่สามารถจัดงบประมาณเข้ามาสนับสนุนการกำจัดปลาหมอคางดำได้เป็นการเบื้องต้น ก่อนที่กรมประมงหรือรัฐบาลจะมีงบประมาณสนับสนุนดำเนินการอย่างจริงจัง” นายไพโรจน์ กล่าว.