ถ้าไปดูหลักสูตรแล้วจะเห็นว่ามีวิชาความยั่งยืนอยู่บ้าง ผมเคยแอบไปฟังอาจารย์เขาสอน มีแต่ทฤษฎีที่แปลมาล้วน ๆ ไม่ค่อยตรงกับการทำงานจริงนัก อาจารย์มักจะสอน SDG แต่ละข้อไปทีละสี จนครบ 17 ข้อ แล้วบอกว่าให้ท่องจำไว้ เดี๋ยวจะมีในข้อสอบ แต่ไม่ได้มีตัวอย่างเชื่อมโยงกับงานออกแบบที่ทันสมัย ไม่มีการลงมือทำโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจ วิชาอื่น ๆ ก็พอมีอยู่บ้าง เช่น Universal Design การออกแบบสำหรับคนทุกเพศทุกวัย การออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียว การออกแบบเพื่อการอนุรักษ์ต่าง ๆ แต่วิชาเหล่านั้นยังน้อยเกินไป ไม่เชื่อมโยงกันเป็นภาพใหญ่ และวิธีสอนยังไม่ได้ฝังเข้าไปใน DNA

ทำไมการออกแบบสถาปัตยกรรมจึงจำเป็นที่ต้องทุ่มเทเรื่องความยั่งยืน? เพราะอาคารต่าง ๆ จะมีอายุการใช้งานเป็นร้อยปี
ถ้าไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานจำนวนมาก แผ่ความร้อน ปล่อยมลพิษ และของเสียไปรอบ ๆ รวมถึงการออกแบบที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมรอบด้าน สถาปัตยกรรมนั้นย่อมเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกไม่ยั่งยืน เราจะผลิตสถาปนิกเพื่อให้รับใช้นายทุน เค้นพื้นที่ใช้สอยให้ได้มากที่สุด สร้างกำไรสูงสุดตามกฎหมาย โดยไม่แคร์สังคมและชุมชนรอบข้าง หรือจะผลิตสถาปนิกที่สร้างสรรค์ความยั่งยืน

การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนเป็นอย่างไร? อย่างแรก คือ สิ่งแวดล้อม นักออกแบบที่ดีจะศึกษาระบบนิเวศ ดูทิศทางของแดด ลม และธรรมชาติ นำมาเป็นปัจจัยกำหนดรูปแบบสถาปัตยกรรม อาคารจะกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเพิ่มคุณค่าให้กับธรรมชาติที่มีอยู่เดิม การออกแบบอาคารต้องยิ่งกว่าอาคารเขียว เพราะต้องประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลดปล่อยคาร์บอนตํ่า มีความเรียบง่าย ใช้วัสดุน้อย และถ้ามาจากวัสดุหมุนเวียนได้ จะยอดเยี่ยมมาก

อย่างที่สอง คือ ต้องคำนึงถึงผู้คนและสังคม ทั้งในอาคารของตนเองและชุมชนรอบข้าง มีการคำนึงถึงความเท่าเทียม เด็ก สตรี LGBTQIA+ คนชรา คนพิการ ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวกปลอดภัย มี public space ที่ให้ทุกคนได้พักผ่อน สร้างเสริมสุขภาพ และเชื่อมโยงกับชุมชนรอบข้าง ต้องสร้างประโยชน์ร่วมซึ่งกันและกัน

อย่างสุดท้าย คือ สร้างคุณค่าที่เพิ่มมูลค่า เช่น ความงาม สุนทรียภาพ ความโดดเด่นมีอัตลักษณ์ กลมกลืนกับชุมชน การสร้างคุณค่าเพิ่มของย่าน และภาพจำใหม่ การออกแบบเหล่านี้ถือเป็น Soft Power ที่ทรงพลังที่สุด

ดังนั้นคณะสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย ต้องสอนเรื่องความยั่งยืนอย่างเข้มข้น ต้องเชื่อมโยงงานสถาปัตยกรรมกับเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ได้ อาจต้องปรับวิชาเดิม พร้อมกับเพิ่มวิชาใหม่ เช่น วิชา Design Thinking ต้องอัปเกรดเป็น วิชา SD Design Thinking ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และตามด้วย วิชาผู้ประกอบการทางสังคม Impact Entrepreneur ที่สถาปนิกสามารถคิดแผนธุรกิจได้ อย่างน้อยก็ต้องเข้าใจการลงทุน และสามารถต่อรองเกลี้ยกล่อมให้นายทุนลงทุนเพื่อความยั่งยืนให้ได้ รวมถึงต้องมี วิชา ROI vs SROI ผลตอบแทนต่อการลงทุน และผลตอบแทนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการลงทุน ตลอดจนอาจจะต้องเพิ่ม วิชา Soft Power Design การออกแบบพลังละมุน และอีกมากมาย

ช่วงเดือนที่ผ่านมาหลังจาก “คอลัมน์นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” เกี่ยวกับผลงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาฯ คือ พริมา อุทินทุ เรื่อง “การออกแบบโรงเรียนผู้พิทักษ์ป่า” ได้ถูกเผยแพร่ ท่านนายกสมาคมอุทยานแห่งชาติได้เชิญนิสิต พริมา และผมไปบรรยายที่สมาคม และมี Live ไปตามสำนักงานอุทยานฯ ทั่วประเทศ เสียง Feedback จากสมาชิก และผู้บริหารก็คือ การออกแบบที่ดี คือ Soft Power ที่ช่วยทำให้อุทยานแห่งชาติงดงามยิ่งขึ้น เปิดจุดท่องเที่ยวเชิงนิเวศใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยการออกแบบผลงานต้นแบบนี้ ใช้ความยั่งยืนเป็น Concept หลัก โดยมีแนวคิด 1.Nature Base Design การออกแบบที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ 2.Genius Loci การออกแบบที่อ้างอิงจิตวิญญาณและวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม 3.Minimalism การออกแบบที่เรียบง่าย ประหยัด น้อยแต่มาก 4.New Experience Design การออกแบบที่สร้างประสบการณ์ใหม่ที่สร้างภาพจำอย่างไม่รู้ลืม นี่คือหัวใจการออกแบบที่มีความยั่งยืนใน DNA และเป็น Soft Power ที่ทรงพลังที่สุด

คุณค่าและมูลค่าของสิ่งต่าง ๆ ล้วนขึ้นอยู่กับ “การออกแบบ” เราอยากให้ทุก ๆ เรื่องในชีวิตใส่ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และ Soft Power เข้าไป สถาบันต่าง ๆ ที่สอนศาสตร์ของการออกแบบ ควรใส่มิติ SDG เข้าไปในหลักสูตรให้เข้มข้น เพื่อผลิตนักออกแบบรุ่นใหม่ใส่ใจความยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ท่านคณบดีคณะสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยดัง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน พร้อมจะปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืนหรือยัง.