เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 9 ก.ค. 67 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธานประชุม สส. โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรี สส. เข้าร่วมประชุม
โดย พล.อ.ประวิตร กำชับให้ สส. ของพรรค ทำหน้าที่ในสภา ใน 3 ประเด็นหลัก 1. ใช้สิทธิในการอภิปรายหารือ ตั้งกระทู้ถามเสนอหรืออภิปรายในญัตติต่างๆ ตามความเหมาะสมเพื่อที่จะได้นำปัญหาของประชาชนมาแจ้งต่อฝ่ายบริหารให้แก้ไข หรือร่วมแสดงความเห็นต่อเรื่องที่สำคัญในญัตติต่างๆ 2. ในส่วนของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ควรจะเร่งประชุมหารือกันในเรื่องที่กำลังพิจารณากันอยู่ เพื่อสรุปผลการดำเนินการ ให้แล้วเสร็จและส่งให้หน่วยงานรัฐ ที่รับผิดชอบรับไปพิจารณา ดำเนินการ ต่อไป 3. รวบรวมเรื่องความต้องการ และปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชน ในเขตพื้นที่มาหารือกันในคณะกรรมการภาค เพื่อสรุปปัญหาที่สำคัญๆเพื่อส่งให้รัฐมนตรี รวมทั้ง ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายนโยบายของพรรค นำไปพิจารณาหาทางดำเนินการแก้ไข หรือกำหนดเป็นนโยบายของพรรคในโอกาสต่อไป
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. ในฐานะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานถึงความคืบหน้าโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง“ ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของพรรค ในการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ในการลดภาระต้นทุน และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้แข่งขันได้ ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจในโครงการนี้ โดยเรื่องนี้ได้มีการหยิบยกหารือในการประชุม ครม. ที่ผ่านมา เพื่อการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกพรรค ซึ่งมั่นใจว่าระบบการบริหารจัดการ จะสามารถส่งถึงมือได้อย่างโปร่งใส ไม่สามารถเปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้ เพราะเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ โดยเปิดให้เอกชนทุกราย สามารถเข้ามาร่วมโครงการได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ ผ่านกลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าว สามารถช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง ถึง 16 ล้านราย เกษตรกรสามารถเลือกใช้ ปุ๋ย 15 สูตร ทั้งปุ๋ยเคมี ชีวภาพ และอินทรีย์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่การเพาะปลูกข้าว ในฤดูกาลผลิต 67/68 จะเริ่มระยะเวลาเพาะปลูกไม่เหมือนกันในแต่ละภาค และแต่ละจังหวัด ซึ่งการเพาะปลูกจะเริ่ทตั้งแต่เดือน ก.ค.- ธ.ค. 67 ดังนั้น หากเกษตรกรรายใดที่ได้ผ่านการลงทะเบียน ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถขอรับการสนับสนุนในโครงการได้ทันที โดยที่เกษตรกร ต้องมีการไถ หว่าน หรือดำนา ไปแล้ว 15 วัน
”โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นหนึ่งใน 2 เรื่องที่พรรคหาเสียงไว้ โดยเรื่องแรก เรื่องเปลี่ยน “ส.ป.ก.4-01” เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนโยบายปุ๋ย เป็นอีกนโยบาย ที่พรรคได้ดำเนินการเพื่อเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรในการลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ 10% ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10% และที่สำคัญ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด“ ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวในที่ประชุมว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง กับ โครงการชดเชยเยียวยาไร่ละ 1,000 บาท เป็นคนละโครงการกัน ซึ่งโครงการชดเชยเยียวยา 1,000 บาท มีมาสมัยรัฐบาลที่แล้ว ที่เติมให้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เป็นโครงการช่วยเหลือในเหตุการณ์วิกฤติ ปีที่ผ่านมาที่ราคาข้าวอยู่ประมาณ 7,000-8,000 บาทต่อตัน แต่ปัจจุบันราคาข้าวดีขึ้นแล้ว จึงทำให้เกิดโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกรชาวนา และเพิ่มจำนวนผลผลิตต่อไร่ของข้าว ซึ่งเป็นโครงการที่มีความยั่งยืน และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เป็นสิ่งที่พูดคุยกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง
ด้านนายนภดล พลเสน เลขานุการ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงกรณีที่ประชาชนออกมาเรียกร้องถึงกรณีการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนใน อ.ทับลาน จ.นครราชสีมา ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการเร่งด่วน คือ 1.ให้พิจารณาสิทธิชาวบ้านในการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ที่ทำกิน ต้องไม่มีนายทุนนักการเมืองถือครองเด็ดขาด พิสูจน์สิทธิให้ชัดเจน 2.ให้ความเป็นธรรมชาวบ้าน ที่อยู่มาดั้งเดิมกว่า 20 ปี เพื่อให้ได้รับสิทธิที่ดินอย่างถูกต้องเป็นธรรม ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน คาดว่ามีประมาณ 5 หมื่นไร่ 3.การจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำกิน ต้องไม่ตัดผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ห้ามตัดพื้นที่ต้นน้ำ หรือที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ไม่อนุญาตให้แบ่งแยกออกไป เพราะต้องรักษาผืนป่าไว้ อาจพิจารณาตัดแบ่งเฉพาะที่ประชาชนอาศัยและทำกินอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น.