สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองโกมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ว่าทหารรวันดาประมาณ 3,000-4,000 นาย ต่อสู้เคียงข้างกลุ่มกบฏ 23 มีนาคม หรือเอ็ม23 ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันออกของดีอาร์คองโก และมีข้อสังเกตว่า รัฐบาลรวันดาควบคุมปฏิบัติการของกลุ่มกบฏ “โดยพฤตินัย”

จังหวัดคีวูเหนืออยู่ภายใต้อิทธิพลของกบฏเอ็ม23 ตั้งแต่ปลายปี 2564 ด้านรัฐบาลดีอาร์คองโกกล่าวหาทางการรวันดา ว่าสนับสนุนกลุ่มเอ็ม23 ซึ่งเป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ทุตซี แม้รวันดาไม่เคยยอมรับ แต่รายงานของยูเอ็นเอสซี ระบุว่า รวันดาควบคุมและกำกับดูแลปฏิบัติการของเอ็ม23 “ในทางนิตินัย” ดังนั้น รัฐบาลคิกาลีต้องรับผิดชอบ ต่อการกระทำของเอ็ม23

การแทรกแซงและปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังป้องกันประเทศรวันดา (อาร์ดีเอฟ) ในเมืองนีรากองโก, รุตชูรู และมาซีซี ในจังหวัดคีวูเหนือ ที่มีความสำคัญต่อการขยายดินแดน ประสบความสำเร็จระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. ที่ผ่านมา เพราะกลุ่มเอ็ม23

จนถึงสิ้นปี 2566 ทางการรวันดาปฏิเสธต่อสาธารณะ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มเอ็ม23 ในจังหวัดคีวูเหนือ ขณะที่ประธานาธิบดี พอล คากาเม ผู้นำรวันดา กล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าพร้อมที่จะสู้รบกับดีอาร์คองโก “หากจำเป็น” ขณะที่สหรัฐ, ฝรั่งเศส, เบลเยียม และสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้รวันดาถอนกองกำลังทหาร และขนย้ายระบบขีปนาวุธภาคพื้นดิน ออกจากดีอาร์คองโก และยุติการสนับสนุนกลุ่มเอ็ม23

มากไปกว่านั้น รายงานเปิดเผยว่า เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี ได้รับการคัดเลือกจากค่ายผู้ลี้ภัยเกือบทั้งหมดในรวันดา เพื่อส่งไปยังค่ายฝึกในเขตกบฏ ภายใต้การดูแลของทหารรวันดาและนักรบเอ็ม23 “ผู้ที่ถูกคัดเลือกมีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับการฝึกฝนการต่อสู้ และถูกส่งไปยังแนวหน้า” รายงานระบุ พร้อมเสริมว่า โดยทั่วไป การรับสมัครผู้เยาว์ในรวันดาดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ผ่านคำสัญญาอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับค่าตอบแทนหรือการจ้างงาน และผู้ที่ไม่ยินยอมก็ถูกบังคับอย่างแข็งกร้าว

กองทัพเอ็ม23 และรวันดากำหนดเป้าหมายเฉพาะพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวฮูตู โดยอ้างว่าเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยแห่งรวันดา (เอฟดีแอลอาร์) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏรวันดาที่ก่อตั้งโดยอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของฮูตู ผู้อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีในรวันดาเมื่อปี 2537 ที่ลี้ภัยมาอาศัยอยู่ในดีอาร์คองโก ส่งผลให้การปรากฏตัวของพวกเขาในคองโกตะวันออก ถือเป็นภัยคุกคามของรวันดา

ประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องให้ยุติการแทรกแซงจากต่างประเทศในดีอาร์คองโก และขอให้ดีอาร์คองโกแยกตัวออกจากเอฟดีแอลอาร์ อย่างไรก็ตาม รายงานของยูเอ็นตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลดีอาร์คองโกใช้กลุ่มติดอาวุธในคีวูเหนือหลายกลุ่ม รวมไปถึงเอฟดีแอลอาร์ เพื่อต่อสู้กับเอ็ม23 และอาร์ดีเอฟ ซึ่งกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพดีอาร์คองโก มีชื่อว่า “วาซาเลนโด” ซึ่งเป็นคำที่ชาวสวาฮิลีใช้เรียกผู้รักชาติ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวหากลุ่มวาซาเลนโดว่า ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายครั้ง

มากไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่า พวกเขาได้รับการยืนยันถึงการสนับสนุนกลุ่มเอ็ม23 จากสมาชิกของหน่วยข่าวกรองยูกันดาด้วย แม้กองทัพของยูกันดาร่วมกับกองทัพดีอาร์คองโก ในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏอีกกลุ่ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส ในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของเอ็ม23 อีกส่วนหนึ่ง.

เครดิตภาพ : AFP