จากปัญหาการรุกรานของปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศตามแหล่งน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเลหลายจังหวัด  มีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้สำเร็จอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม เพราะการแพร่ระบาดเป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 18 ปี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมโดยมี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมว.เกษตรและสหกรณ์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน  โดยที่ประชุมเสนอเรื่อง “การแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ”

โดยกรมประมงได้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ดังนี้  มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ มาตรการที่ 2 กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 ปล่อยปลาผู้ล่า 154,000 ตัว  มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ส่งโรงงานเพื่อผลิตปลาป่น นำไปเป็นเหยื่อสำหรับเลี้ยงปลากะพงขาว และทำน้ำหมักชีวภาพ

มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน หน่วยงานกรมประมงลงพื้นที่สำรวจจังหวัดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง  มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด หาแนวทางป้องกันพร้อมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้จับปลาหมอคางดำให้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ และ มาตรการที่ 6 การติดตาม ประเมินผล และบริหารโครงการ

ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินได้จัดการรณรงค์ด้วยการทำน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) โดยนำนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในการร่วมแก้ไขปัญหา ด้วยการนำปลาหมอคางดำที่มีจำนวนมากมาเป็นวัสดุสำคัญ เพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพผสมกับผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด.2

ซึ่งน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำมีธาตุอาหารที่สำคัญ กรดอินทรีย์ และฮอร์โมนต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยวิธีการใช้เพียงแค่นำน้ำหมักชีวภาพจากปลา 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 100–150 ลิตร ฉีดพ่นกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้

ปลาหมอคางดำจำนวน 300 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำหมักได้ 5 ถัง (ถังจำนวน 200 ลิตร ประกอบด้วย น้ำ 80 ลิตร สับปะรด 20 กิโลกรัม ปลา 60 กิโลกรัม กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 2 ซอง)  จากนั้นได้แจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ ช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช