เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดี เป็นผู้ลงนาม ร่วมกับ นายศุภชัย ผ่อนวัฒนา หัวหน้างานปฏิบัติการด้านเทคนิค ภูมิภาค-ภาคเหนือ AIS เพื่อขยายผลส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคลากรในสังกัด ยกระดับทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัล เสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย กล่าวว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เราพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล เพื่อให้ นักเรียน นักศึกษา บุคลากร ในสังกัด ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัยในเครือข่ายชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อาทิ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 62, กลุ่มผู้สูงวัยในเขตพื้นที่เทศบาลแม่จัน และในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กรณ์ จังหวัดเชียงราย ด้วยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่จะถูกนำเข้าไปบูรณาการ โดยคณะเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย

ด้าน นายศุภชัย ได้กล่าวว่า “AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลเราไม่เพียงเดินหน้าเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อคนไทยเพียงเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทยที่เราเชื่อว่าการเสริมสร้างองค์ความรู้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน ทำให้ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลอย่าง หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P 4ป ประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์, Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่วันนี้ได้เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้แล้วกว่า 350,000 คน โดยครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ที่ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาทักษะดิจิทัล ผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ และมีสุขภาวะดิจิทัลที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้เรายังคงเดินหน้าขยายความร่วมมือเพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงคนไทยในวงกว้างมากขึ้น โดยครั้งนี้เราได้ทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นสถาบันทางการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพลเมืองดิจิทัล และร่วมกันขยายผลการเรียนรู้หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ให้เข้าถึงนักเรียน นักศึกษา บุคลากรในสังกัด รวมถึงประชาชนทุกช่วงวัยในเครือข่ายชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยเราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานกันในครั้งนี้ จะช่วยทำให้เป้าหมายการทำงานที่ทั้งสององค์กรมีร่วมกันคือมุ่งลดการเกิดปัญหาภัยไซเบอร์ สร้างทักษะทางดิจิทัล ทั้งความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และปลอดภัย ได้อย่างแน่นอน.