เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาญัตติเรื่องขอเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกสมาชิกสมาชิกวุฒิสภา ตามที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นผู้เสนอ

โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. อภิปรายว่า ในช่วงสุดท้ายของ 5 ปี ในการเป็นการ สว. ของตน อาจมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับเพื่อนสมาชิกหลายคนจนไม่คบกัน ไม่มองหน้ากัน ไม่พูดกัน ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ตนจึงคิดเยอะ แต่หากตนไม่เสนอความเห็นครั้งนี้ ก็ถือว่าตนทำหน้าที่ใช้ไม่ได้ ไม่รับผิดชอบ มองเห็นอีกมุมแล้วไม่พูด ตนละอายใจ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นพยานหลักฐานสำคัญให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาวินิจฉัย ตนเสนอความเห็นไป แต่ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ กกต. เนื่องจากเป็นคนละอำนาจหน้าที่ สว. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ กกต. เป็นองค์กรอิสระ ตามมาตรา 109 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ให้ สว. ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามี สว.ชุดใหม่เข้ามาก็จริง แต่ในช่วงที่ยังไม่มี สว.ใหม่เข้ามา เขาให้ สว.ชุดเก่าอยู่รอ เพื่อพิจารณาคนที่ไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไว้ มีใครที่ต้องดำเนินการ หรือมีกฎหมายที่ผ่าน สส. ส่งมาที่ สว. ดำเนินการ รวมถึงการดำเนินงานในกรรมาธิการฯ ในแบบเท่าที่จำเป็น ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ

“ในคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผมรับผิดชอบ ทำไมผมไม่อยากทำเรื่องนี้ คนในกรรมาธิการผมก็บอกว่าทำไมไม่ทำ เห็นคณะอื่นทำมากมาย เราตกขบวนได้อย่างไร แต่ด้วยความเป็นห่วง ผมชี้แจงไปว่า ในขณะที่ผมเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ผมต้องระมัดระวังไม่ให้กรรมาธิการฯ หรือ สว. ไปทำผิดกฎหมาย เพราะบางเรื่องมีโทษทางอาญา ผมไม่อยากให้ท่านพ้นจาก สว. ไปแล้ว ต้องมีคดีอาญาติดตัว ขณะเดียวกันตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก สว. มาตรา 58 ระบุไว้ ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆเพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้สมัคร สมาชิกรัฐสภา ก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ” นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวต่อว่า ตนขอถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาของเราหรือไม่ การที่บอกว่าจะตั้งกรรมาธิการฯ ขึ้นมาเพื่อมาตรวจสอบนั้น ทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ส่วนที่หลายคนบอกว่า ให้รับรองไปก่อนค่อยสอยทีหลังตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 ระบุว่า ภายหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากระทำการทุจริต ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิของผู้นั้น ดังนั้น การที่สมาชิกที่นำหลักฐานมาแสดง เป็นเรื่องดี แต่ต้องส่งให้ กกต.

“จะบอกว่า ทำไม กกต. ไม่ทำ กลายเป็นว่าทำตัวเป็น กกต. เองไปแล้ว ยืนยันว่าที่ผมพูดไม่ใช่ขัดแย้งกับสมาชิก แต่เป็นหน้าที่สำคัญ ถึงบอกให้ กกต. เร่งตรวจสอบ และเร่งรับรอง ต้องใจกว้างยอมรับว่า หมดเวลาของ สว.ชุดนี้แล้ว ส่วน สว.ชุดใหม่จะมาด้วยคุณสมบัติที่อะไร ถ้าไม่ขัดตามรัฐธรรมนูญ จะขายกล้วยทอด หรือขับรถ ก็ต้องยินดีให้เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ยืนยันว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการฯ เพราะเป็นการไปก้าวก่ายอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ” นายเสรี กล่าว.