เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นำโดย พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้สมัคร สว.กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ยื่นหนังสือและหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต. เป็นครั้งที่ 4 และติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามคำร้องหลังจากก่อนหน้านี้ได้มายื่นขอให้ตรวจสอบความผิดปกติในการลงคะแนนที่พบว่ามีการจัดตั้ง มีการลงคะแนนตามโพย จึงขอให้มีการเปิดหีบพิสูจน์การลงคะแนนว่าเป็นไปตามโพย และคัดค้านการประกาศรับรอง สว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน

พล.ต.ท.คำรบ กล่าวว่า ตนได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2567 และมายื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อเนื่องจนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จาก กกต. ตนพยายามที่จะหาความเป็นธรรมไปยื่นคำร้องต่อศาลต่างๆ แต่ศาลก็ยกคำร้องโดยเห็นว่ากกต.ยังไม่มีการประกาศรับรองผล ตนจึงต้องมาเรียกร้องให้กกต.ดำเนินการตามพยานหลักฐานที่ได้ยื่นไว้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบัตรที่อยู่ในหีบรอบเลือกไขว้นั้นมีการลงคะแนนตรงตามโพยทุกใบ โดยหลังจากมาเทียบดูแล้ว ผู้ได้รับคะแนนสูงๆ เป็นไปตามโพยทุกประการ วันนี้จึงเอามาให้ กกต. เผื่อ กกต. ทำไม่เป็น จะได้ทำตามที่ตนยื่น รับรองจะเจอข้อเท็จจริงแน่นอน

พล.ต.ท.คำรบ กล่าวต่อว่า หาก กกต. ไม่ดำเนินการตามที่ร้อง เราก็จะมายื่นร้องทุกวันหรือถ้าไม่สนใจแล้วประกาศรับรอง สว. 200 คนไปโดยไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะถือว่า กกต. หลีกเลี่ยงที่จะผดุงความสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่มาตรา 32 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กำหนดไว้ ซึ่งก็จะมีโทษตามมาตรา 69 จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท  และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และอาจจะโดนไปถึงมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยากเห็น จึงขอวิงวอนให้ กกต. เปิดหีบบัตรลงคะแนนตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทุกอย่างกระจ่าง

“มาตรา 59 ของกฎหมายเดียวกันให้อำนาจ กกต. ทั้งในเรื่องจะเลือกใหม่ การจะยับยั้ง หรือแม้แต่บัญชีที่ กกต. ประกาศไปแล้วก็สามารถจะทำขึ้นใหม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้นด้วย กกต. เปิดหีบบัตรออกมาแล้วพบว่าผู้ได้รับเลือกได้คะแนนมาโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งก็ต้องได้ใบแดงตามที่กฎหมายกำหนด แล้วก็เลื่อนคนที่ได้คะแนนลำดับถัดไปขึ้นมา อาจจะเกินบัญชีสำรองที่ได้ ก็อยู่ในวิสัยที่ กกต. ทำได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจ กกต. ไว้” พล.ต.ท.คำรบ กล่าว

พล.ต.ท.คำรบ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับการที่ สว.ชุดปัจจุบัน ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบการเลือก สว. ในขณะนี้ เพราะผู้สมัคร สว. มายื่นร้องกันในขณะนี้ก็ไม่รู้ว่า กกต. จะรับฟังเท่าไหร่ การที่ สว. เข้ามาช่วยตรวจสอบก็เหมือนเป็นแรงหนุนที่อาจทำให้ความยุติธรรมเพิ่มขึ้นมา

นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ผู้สมัคร สว.กลุ่ม 3 การศึกษา กล่าวว่า ตอนนี้เราถูกปิดหูปิดตาด้วย 2 วลี คือ 1.การฮั้วไม่ผิด และ 2.การสมัครผิดกลุ่มไม่ผิด ทั้งที่สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของการเลือก สว. ครั้งนี้ ที่มีการกำหนดกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม และให้มีการจับสลาก เจตนาเพื่อป้องกันการฮั้วที่จะทำได้ยาก แต่เมื่อมีการประกาศว่าสมัครผิดกลุ่มไม่ผิด จึงเป็นการทำลายระบบทั้งหมด เพราะการจัดตั้งนำคนมาจำนวนมากๆ เกณฑ์มาง่าย แต่การที่จะเกณฑ์คนมาตรงกลุ่มอาชีพได้เยอะๆ ทำยาก การอนุโลมให้สมัครไม่ตรงกลุ่มได้จึงเป็นการส่งเสริมการจัดตั้ง

นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า ซึ่งตั้งแต่การรับสมัครมาจนปัจจุบัน กกต. ยังไม่เคยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคนเลย จะตรวจเฉพาะคนที่ถูกร้องเรียนเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการที่เรียกร้องให้เปิดหีบลงคะแนน เพราะต้องการเช็กว่าการจัดตั้งมีจริง แล้วจึงค่อยไปตรวจสอบคุณสมบัติของคนที่มาไม่ตรงกลุ่มว่าเป็นอย่างไร ถ้า 2 เรื่องนี้มันสอดคล้องกันจริง การจัดตั้งทั้งหมดก็ผิดตามระเบียบ จึงอยากให้ กกต. เปิดหีบบัตรลงคะแนนเพื่อเช็กร่องรอย

นายยศพัทธร์ ปรมัตถ์กิจการ ผู้สมัคร สว. กลุ่มที่ 9 ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม เข้ายื่นต่อ กกต. เพื่อสอบถามความคืบหน้า กรณีขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติหรือเงื่อนไขของผู้สมัคร สว.กลุ่ม 9 ว่า ก่อนการเลือก สว.ระดับประเทศ ตนเคยมายื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร สว.กลุ่ม 9 ทั้งหมด ซึ่งผู้ที่จะสมัครกลุ่มนี้มีกฎหมายเกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ คือพระราชกฤษฎีกาปี 2558 ที่กำหนดคุณลักษณะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่าต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และกฎกระทรวงที่ระบุลักษณะวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ในปี 2562 กำหนดว่า คนที่จะมาสมัครกลุ่ม 9 ได้นั้น ถ้าเป็นธุรกิจภาคการผลิตต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี

นายยศพัทธร์ กล่าวอีกว่า แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระดับอำเภอ ตนได้เข้าไปดูโปรไฟล์ผู้สมัครแต่ละคนในแต่ละจังหวัดปรากฏว่ามีจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการเข้ามาสมัคร และมีบางคนที่เขียนในใบ สว.3 ว่า เป็นเจ้าของบริษัท แต่เมื่อตนไปเช็กดูแล้วเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ เลย นั่นแสดงว่าคนนั้นไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการเกิน 10 ปี ทั้งนี้ เมื่อถึงขั้นตอนสมัครทาง กกต.จังหวัด ไม่ได้มีการให้ยื่นเอกสารประกอบการสมัครว่าคนนี้มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาทหรือไม่ หรือเป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่

นายยศพัทธร์ กล่าวย้ำว่า เมื่อตนได้รับเลือกให้มาเลือกในระดับจังหวัดตนเองก็เคยมายื่นเรื่องนี้ต่อ กกต.กทม. แต่เจ้าหน้าที่แค่รับเอกสารไปไม่ได้มีการดำเนินการอะไร จนปล่อยปละละเลยให้คนที่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ได้เป็นผู้ประกอบการเข้ามาเลือกคนอื่น เช่น วันนั้นที่ตนอยู่ในเหตุการณ์ มีผู้สมัครที่ได้รับเลือกมีคะแนนผิดปกติ 2-3 คน จากนั้นเพื่อความเป็นธรรม ตนจึงได้ไปยื่นต่อศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง จนศาลได้มีคำสั่งว่า ผู้สมัครไม่มีอำนาจหรือกฎหมายที่จะไปยื่นให้ตรวจสอบ ลบรายชื่อผู้สมัครคนอื่น 

นายยศพัทธร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ที่ตนมาเพื่อจะมายื่นสอบถามความคืบหน้าเรื่องที่เคยยื่นไปก่อนหน้านี้ พร้อมกล่าวโทษผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติ ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 74 พ.ร.ป.ว่าด้วยได้มาซึ่ง สว. คือรู้อยู่แล้วว่าตนเองขาดคุณสมบัติแต่มาสมัครโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีความผิดทางอาญาโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี ดังนั้นตนจึงขอกล่าวโทษให้กับคนกลุ่มเหล่านี้ ที่เกาะกลุ่มกันมาแล้วมาเลือกคนอื่น สร้างความเสียหายให้กับประชาชน