เมื่อวันที่  6 ก.ค. ที่โรงเรียนท่าเรือ “นิตยานุกูล” อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับ มรภ.สวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร  ตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสพฐ. (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับมัธยมศึกษา โดย นายสายัน ปองไป รองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการคิด ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะการสร้างให้เด็กมีกระบวนการคิดที่ดี ที่ถูกต้อง จะทำให้นักเรียนสามารถคิดได้ วิเคราะห์เป็น แยกแยะได้ และสังเคราะห์ได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ถูกต้องและสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้

รองผอ.สพม.พระนครศรีอยุธยา กล่าวต่อไปว่า ว่าที่ร้อยเอก ดร.ทิณกรณ์ ภูโทถ้ำ ผอ.สพม.พระนครศรีอยุธยา ต้องการให้ทุกโรงเรียนในสังกัด สพม.พระนครศรีอยุธยา จัดการเรียนการสอนโดย Active Learning จึงได้ส่งครูและบุคลากรมารับการอบรมครั้งนี้ เพราะถ้าหากเราสามารถให้ครูสอนได้โดยมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ครูก็จะลดบทบาทของความเป็นผู้สอนมาเป็นผู้สนับสนุน โค้ชชิ่ง เมนเทอร์ริ่ง หรือ ออฟเซิร์ฟเวอร์  ขณะที่เด็กๆ นอกจากจะได้เรื่องของวิชาการแล้วยังจะได้ทักษะในการคิดแก้ปัญหาพัฒนาต่อยอดได้อีก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบการศึกษาและเป็นผลดีต่อประเทศด้วย ซึ่งในอนาคตประเทศต้องการคนประเภทนี้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมคนให้พร้อม สพม.พระนครศรีอยุธยา จะมอบนโยบายนี้ให้ ผู้บริหารทุกโรงเรียนนำกระบวนการนี้ไปใช้ในห้องเรียนและจะมีการกำกับนิเทศติดตามเพื่อสรุปอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งที่ได้ผลจากการพัฒนาครูสู่ผู้เรียนและตัวผู้เรียนสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้มากน้อยแค่ไหน

 รศ.ดร.นันทิยา น้อยจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า  โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning  เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มรภ.สวนสุนันทา กับ สพฐ. โดยเป็นการจัดการเรียนการสอนผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการพัฒนาให้นักเรียนมีการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม โดยใช้กระบวนการ 5 ขั้นตอนตั้งแต่เริ่มตั้งปัญหา แสวงหาความรู้ การสร้างองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรม และเผยแพร่นวัตกรรม ซึ่ง GPAS 5 Steps  ได้ผ่านกระบวนการวิจัยมาหลายรอบแล้ว ผสมกับการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่จะนำไปใช้กับเด็ก ที่ผ่านมาได้มีการพูดถึง Active Learning  มากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีทิศทางหรือกรอบที่ชัดเจน กระบวนการคิดขั้นสูง GPAS 5 Steps  จะเป็นกระบวนการให้มีการทำงานร่วมกันเป็นนวัตกรรมของครูสู่นวัตกรรมนักเรียน โดยใช้ห้องเรียนเป็นฐานจัดกิจกรรมเรียนรู้  ผู้เรียนจะไม่สูญเสียครูที่ออกไปสร้างนวัตกรรมเพื่อมาใช้ในการเรียน แต่เป็นการทำควบคู่กันไป ผู้เรียนจะได้ในเรื่องของฮาร์ดสกิล และซอฟท์สกิลด้วย เพราะมีการสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นรูปแบบที่ดีที่ช่วยให้ครูมีกรอบและทิศทางในการจัดการเรียนการสอน โดยสามารถใช้ได้กับเด็กทุกระดับตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในการจะถ่ายทอดให้แก่ครูเพื่อไปถ่ายทอดสู่ผู้เรียนต่อไป

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า หากสถานศึกษาได้ปฏิบัติอย่างจริงจังเพียง 2-3 ปี นอกจากพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาไทยได้แล้ว ยังสามารถนำพาประเทศไทยสู่มาตรฐานสากลอย่างเป็นระบบ และส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของเยาวชนไทยเกิดการพัฒนาศักยภาพ สำหรับการอบรมครูต้นแบบครั้งนี้เป็นโครงการระยะที่สองจากโครงการระยะแรกที่ทำจังหวัดละ 3 โรงเรียน ซึ่งได้มีการนำนวัตกรรมออกมาแสดงระดับประเทศแล้ว และครั้งนี้เป็นการลงลึกอำเภอละ 2 โรงเรียน คือ ระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง และประถมศึกษา 1 แห่ง