จากกรณี การแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ที่กลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่ทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เสียงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกู้สงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ปากพนัง เปิดเผยว่า ตนขอขอบคุณ นสพ.เดลินิวส์ เดลินิวส์ออนไลน์ และสื่อมวลชน เกาะติดนำเสนอข่าวการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต่อเนื่อง ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัวและให้ความสำคัญกับปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ มหัตภัยจากต่างแดน ตนและสหกรณ์กุงปากพนัง ชมรมกุ้งสงขลา-นครศรี ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการต่างดีใจอย่างมาก ประชาชนทั้งในพื้นที่ รวมทั้งจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ให้ความสนใจแจ้งความประสงค์เดินทางมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะในขณะนี้ มีผู้แจ้งความประสงค์ที่จะรับซื้อปลาหมอคางดำในวันที่ 14 ก.ค. นี้แล้ว 2,100 กก. คาดว่าจะยังมีผู้ที่แจ้งยอดความต้องการเข้ามาเพิ่มเติมอีก ยอดรวมอาจจะสูงกว่า 3,000 กก. หรือ 3 ตัน อย่างแน่นอน

สำหรับรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรม Kick off ไล่ล่าปลาหมอคางดำเมืองคอน ในวันที่ 14 ก.ค. 2567 ณ บ้านหน้าโกฐิ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 1.สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด 20,000 บาท 2.ชมรมกุ้งสงขลา-นครศรี 6,000 บาท 3.บ.ทีเอสเอ.อินฟินิตี้ 3,000 บาท 4.บ.อินเทคฟีด 3,000 บาท 5.แพโกศล 3,000 บาท 6.นายสุทิน คงละออ นายก อบต.ขนาบนาก 2,000 บาท 7.สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร 2,500 บาท 8. บจก.ปิติฟู้ดส์ 3,000 บาท 9.นายสุธีร์ มณีฉาย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช 1,000 บาท 10.สำนักงานชลประทานตอนล่าง 2,000 บาท

ในขณะที่ครอบครัวของชาวบ้านรอบ ๆ บ่อบำบัดน้ำเสียโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่จะเป็นพื้นที่ดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำ 3-5 ครอบครัว โดยเฉพาะ นางสมจิตร ดีชู หรือ “ป้าจิตร” อายุ 74 ปี ต่างเตรียมการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการจัดเตรียมเมนูปลาหมอคางดำ ทั้งปลาแห้ง ปลาแดดเดียว และเตรียมทำน้ำแกงขนมจีนปลาหมอคางดำ โดยในระหว่างนี้ จะทำการจับปลาหมอคางดำตัวใหญ่ ๆ มาเตรียมทำเมนูอาหารต่าง ๆ อย่างเต็มที่ โดยใช้วิธีการ “โล้ปลาในเวลากลางคืน” เพื่อเลือกจับปลาหมอคางดำตัวใหญ่

ขณะที่ นางวาสนา อ่อนเกตุพล บุตรสาวของนางสมจิตร เปิดเผยวิธีการ “โล้ปลาในเวลากลางคืน” ว่าเป็นวิธีการที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว เพราะต้องใส่หน้ากากติดไฟฉายดำน้ำลึก 1-2 เมตร ลงไปค้นหาแหล่งที่ซ่อน หรืออยู่อาศัยของปลาหมอคางดำ เมื่อพบปลาตัวที่ต้องการ ก็จะใช้ลูกศรปลายแหลม ซึ่งทำด้วยเหล็กยาวประมาณ 1 เมตร เหนี่ยวด้วยหนังยางสติ๊ก ยิงใส่ปลาตัวดังกล่าว วิธีการนี้จะเลือกจับเฉพาะปลาหมอคางดำขนาดใหญ่เท่านั้น (ไม่เกิน 4-5 ตัว/กิโลกรัม) หลังจากจับปลาหมอคางดำได้แล้ว ก็จะนำมาผ่าท้องคลุกเกลือตากแดด เป็นปลาแห้งหรือปลาแดดเดียว

นางวาสนา กล่าวอีกว่า การจับตายปลาหมอคางดำด้วยวิธีโล้ยิงด้วยลูกดอกกลางคืนนั้น สามีและน้องเขยตนมีความชำนาญเชี่ยวชาญอย่างมาก บางคืนไปโล้ยิงปลาหมอคางดำได้รวมกันมากถึง 100 กก. โดยตนและแม่ จะรับหน้าที่ผ่าท้องคลุกเกลือนำไปตากแดด ทำปลาหมอแดดเดียว ซึ่งในวันที่ 14 ก.ค. นี้ ตนและครอบครัวจะทอดปลาหมอแดดเดียวให้เจ้าหน้าที่และผู้มาร่วมกิจกรรมได้กินกันอย่างทั่วถึง

สำหรับนายเอกชัย ทรัพย์นวล อายุ 50 ปี ที่มีอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช แต่ในรอบล่าสุด บ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำโดนปลาหมอคางดำแพร่ระบาดกินพันธุ์ลูกกุ้ง และแย่งกินอาหารกุ้ง สร้างความเสียหายยับเยิน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดไม่นอยกว่า 3 แสนบาท นายเอกชัย และครอบครัวมีอาการเครียดอย่างหนัก เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแม้แต่น้อย และไม่รู้ว่าจะหาเงินทุนมาเลี้ยงกุ้งในรอบต่อไปได้อย่างไร โดยในวันจันทร์ที่ 8 ก.ค. 67 นี้ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากทางกรมประมง หรือหน่วยราชการผ่านนายอำเภอ ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ต่อไป.