วันนี้ (6 ก.ค. 67) ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน และได้ประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน ซึ่งได้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 จำนวน 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในราคา 260 บาท/ตัน เป็นเงิน 816,400 บาท และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 จำนวน 9,205 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นเงิน 2,393,300 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ทำให้ปัจจุบันสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างแรงจูงใจให้พี่น้องประชาชนได้ภาคภูมิใจว่าการเป็นคนดีของโลกด้วยการจัดการขยะสามารถแปลงให้กลายเป็นทุนแล้วกว่า 3.2 ล้านบาท โดยเงินทุกบาท ทุกสตางค์ ได้กลับไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำแนกเป็นรายครัวเรือนที่ได้เข้าร่วมการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนและได้รับการประเมินปริมาณจากองค์กรภายนอกตามหลักวิชาการ และขณะนี้ยังคงเหลือปริมาณคาร์บอนเครดิตจากโครงการฯ อีก 76,098 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ดร.วันดี กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาในการรณรงค์ให้ทุกภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันให้ความสำคัญกับการจัดการเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในทุกกิจกรรมขององค์กรและหน่วยงานนั้น สมาคมแม่บ้านมหาดไทยก็เช่นกัน ได้มีการดำเนินกิจกรรมของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการจัดกิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น การประชุม สัมมนา ต่างก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันจะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน

“สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงได้มีแนวคิด “การจัดกิจกรรมปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event)” โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรกผ่านกิจกรรม งานประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร 4 ภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยจากการคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากงานประชุมฯ คิดเป็น 171 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) จำแนกเป็นการจัดประชุมในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ครั้งที่ 1 การประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร (ภาคกลางและตะวันออก) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม 2567 ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 379 คน คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 14 tCO2e คิดเป็นค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนเท่ากับ 0.04 tCO2e ครั้งที่ 2 การประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร (ภาคเหนือ) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดพิษณุโลก มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 311 คน คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 38 tCO2e คิดเป็นค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนเท่ากับ 0.12 tCO2e ครั้งที่ 3 การประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร (ภาคใต้) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรม รอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 282 คน คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 62 tCO2e คิดเป็นค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนเท่ากับ 0.22 tCO2e และครั้งที่ 4 การประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมเทพนคร จังหวัดบุรีรัมย์ มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 483 คน คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 57 tCO2e คิดเป็นค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนเท่ากับ 0.12 tCO2e” ดร.วันดี กล่าวเน้นย้ำ

ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจากปริมาณรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 171 tCO2e จากการประชุมสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร 4 ภาคดังกล่าวนี้ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จะดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ภายใต้แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) นอกจากนี้ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีแผนจะนำข้อมูลการจัดกิจกรรมในปีนี้ เป็นแนวทางในการปรับ/เปลี่ยน/ลด ในส่วนที่ไม่จำเป็น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมฯ ที่จะจัดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงกิจกรรมของชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และชมรมแม่บ้านกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ขอเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนพี่น้องภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วน ร่วมกันในการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ด้วยการจัด “กิจกรรมปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event)” ในทุกครั้งที่มีการดำเนินโครงการ/กิจกรรม โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีความยินดีที่จะได้ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในการประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อประเมินและร่วมสนับสนุนการซื้อขายก๊าซคาร์บอนเครดิต จากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ได้ร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ลูกหลานได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ และใช้ชีวิตด้วยความสุขบนโลกใบเดียวนี้ในอนาคตอย่างยั่งยืน” ดร.วันดี กล่าวในช่วงท้าย