นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท จีเอ็มแอล เอ็กซิบิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน ‘DronTech Asia 2024’ กล่าวว่า ปัจจุบันโดรนมีบทบาทในหลายอุตสาหกรรม ช่วยลดทอนการทำงานของแรงงานมนุษย์ สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นทางการค้า เราใช้โดรนเพื่อเพิ่มความสะดวกในหลายมิติ เช่น การตรวจสอบสินค้าในคลัง การทำงานด้านการเกษตร รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ใช้โดรนสร้างความบันเทิง หรือ เก็บภาพถ่ายวิดีโอ ฯลฯ บริษัทฯ มองเห็นว่าอุตสาหกรรมโดรนเริ่มมีทิศทางการขยายตัวและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้

ดังนั้น จีเอ็มแอล เอ็กซิบิชั่น ในฐานะเอกชนที่ถือเป็นแพลตฟอร์มกลางในการประสานงานและเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงเตรียมจัดงาน ‘DronTech Asia 2024’ งานนิทรรศการและการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับโดรนและเทคโนโลยี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการบินพลเรือน (CAAT) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ

โดยที่ ‘DronTech Asia 2024’ จะเป็นเวทีแสดงศักยภาพและความเป็นผู้นำที่สำคัญของอุตสาหกรรมโดรนที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานในครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้แก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโดรนและเทคโนโลยีทั้งไทยและต่างประเทศ ได้พบกับผู้ใช้งานเทคโนโลยีโดรนโดยตรง เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนต่อไป

นายปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโดรนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มุ่งพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และซ่อมบำรุงโดรน เพื่อการเกษตรแก่ชุมชนและเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านธุรกิจดั้งเดิมสู่ ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น และจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร คาดใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท ตอบสนองเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ภายใต้แผนงานเครื่องยนต์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

นายฉัตรชัย ปั่นตระกูล ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) กล่าวถึงแนวทางการกำกับดูแลและกฎระเบียบ เพื่อการใช้งานโดรนในอนาคต ว่า สิ่งที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ด้านการรับรองการบินโดรนแบบต่าง ๆ เช่น BVLOS, โดรนขนาดกลาง การจดทะเบียนอากาศยาน, การรับรองศูนย์ฝึกอบรมนักบินโดรนประเภทต่าง ๆ และการออกใบอนุญาตนักบินโดรนในแต่ละประเภท (พื้นฐาน, ขั้นสูง)

สำหรับ ‘DronTech Asia 2024’ เป็นงานแสดงโดรนและเทคโนโลยีที่จะแสดงให้เห็นถึงการทำงานของโดรนในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและก๊าซ และอุตสาหกรรมด้านการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับโดรน การนำเสนอเทคโนโลยีจากหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี การสาธิตผลิตภัณฑ์จากผู้ออกงาน มีทั้งผู้ผลิตโดรนและเทคโนโลยี ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ตแวร์โดรน ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่าย นักพัฒนาเทคโนโลยีต่อต้านโดรน ผู้เชี่ยวชาญการจัดการจราจรระบบอากาศยานไร้คนขับ และผู้ใช้โดรนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนผู้เข้าชมงานมีทั้งผู้ที่มีความสนใจเรื่องโดรน ผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การเกษตร การก่อสร้าง พลังงาน ความปลอดภัยสาธารณะ ผู้คนในแวดวงสื่อ ความบันเทิง นักลงทุน ผู้ร่วมทุน นักวิจัยและนักวิชาการ เป็นต้น

อนึ่ง ‘DronTech Asia 2024’ งานนิทรรศการและการประชุมสัมมนาชั้นนำของประเทศไทยที่เน้นเรื่องโดรนและเทคโนโลยี จัดขึ้นในวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2567 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ที่อาคาร 12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี