ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาอเนกประสงค์วัดลาดเป้ง ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นายสิทธิโชค นิลเภตรา นายกสโมสรโรตารีสมุทรสงคราม ปีบริหาร 2567-2568 พร้อมมวลมิตรโรแทเรียนคู่สมรส และผู้มีเกียรติร่วมบริจาคโลหิตโครงการ “โรตารีสมุทรสงครามร่วมใจบริจาคโลหิต” ซึ่งสโมสรโรตารีสมุทรสงครามร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัด และโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จัดขึ้นถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 

นอกจากนี้ ยังเป็นภารกิจของสโมสรโรตารีที่ทำต่อเนื่องทุกปี เพื่อจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอและมีคุณภาพปลอดภัยสูงสุด ทั้งผู้ให้และผู้รับก่อนส่งไปรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันโลหิตที่ได้รับบริจาคแต่ละวัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังให้ผู้บริจาคและบุคคลใกล้เคียงได้รับรู้ถึงประโยชน์ของการบริจาคโลหิต โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสมุทรสงคราม นำรถรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่มารับบริจาค มีสมาชิกสโมสรโรตารีสมุทรสงคราม ประชาชนทั่วไป และบุคลากรหน่วยงานราชการใกล้เคียงมาบริจาคโลหิต จำนวน 47  ราย ปริมาณโลหิต 18,850 ซีซี มีผู้บริจาคดวงตา 9 ราย และบริจาคอวัยวะ 7 ราย

นายสิทธิโชค นิลเภตรา นายกสโมสรโรตารีสมุทรสงคราม ปีบริหาร 2567-2568 กล่าวว่า “โรตารี” คือ กลุ่มอาสาสมัคร ผู้เรียกแทนตนเองว่า “โรแทเรียน” โดยใช้สัญลักษณ์รูปฟันเฟืองคู่กับคำว่าโรตารี และใช้คำขวัญในการทำงานบำเพ็ญประโยชน์คือ “Service Above Self” หรือบริการผู้อื่นเหนือตน และใช้บททดสอบ 4 แนวทางในการคิด พูด และทำเพื่อยังประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คือ “เป็นความจริง อิงเที่ยงธรรม นำไมตรี ดีทุกฝ่าย” ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้มาจากนักธุรกิจและวิชาชีพโดยไม่กีดกัน เพศ อาชีพ ศาสนา เชื้อชาติ และไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง โดยทำกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ ส่งเสริมจรรยาบรรณในทุกวิชาชีพ พร้อมทั้งสร้างไมตรีจิตและสันติสุขในโลก 

สำหรับการบริจาคโลหิตเป็นภารกิจต่อเนื่องของสโมสร และถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะโลหิตเป็นสิ่งที่จําเป็นต่อผู้ป่วย นอกจากผู้ป่วยจะได้รับโลหิตในการรักษาอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้บริจาคโลหิตยังจะได้ทราบสุขภาพของตนเอง มีความสุขส่งผลให้มีสุขภาพดี ดังนั้นการบริจาคโลหิตจึงเป็นกิจกรรมที่ดีต่อผู้ให้และผู้รับ 

นอกจากนี้ในปี 2567 สโมสรโรตารีสมุทรสงคราม ยังมีโครงการสำคัญที่เน้นการสร้างแรงกระเพื่อมสังคม เช่นร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตสมุทรสงคราม เตรียมให้ความรู้เรื่องการปรับพฤติกรรมผู้ป่วยความดันโลหิตสูง การอบรมช่วยชีวิตและการเอาตัวรอดจากการจมน้ำสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา เนื่องจากปี 2566 จ.สมุทรสงคราม มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตถึง 8 ราย ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กควรมีการรับรู้และส่งเสริมการป้องกันเพื่อเอาตัวรอดจากการจมน้ำและลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และโครงการเปลี่ยนโถสุขภัณฑ์จากแบบนั่งเป็นชักโครกให้ผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางจำนวน 20 หลังคาเรือน เป็นต้น โดยจะดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป