“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางของเงินเยน เงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ ยังได้รับอานิสงส์จากการขยับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ ตามกระแสการคาดการณ์ของตลาดถึงความเป็นไปได้ว่า อดีต ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. นี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับเงินดอลลาร์ ขาดแรงหนุนตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด (อาทิ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนและดัชนี ภาคบริการเดือน มิ.ย. และข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) ซึ่งทำให้ตลาดกลับมาเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ ของเงินดอลลาร์ ยังถูกดดันจากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุว่า เฟดมีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย แม้จะต้องใช้เวลาอีกระยะที่จะทำให้มั่นใจมากขึ้นก็ตาม

ในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.58 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 มิ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 845 ล้านบาท และมีสถานะเป็น ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 10,633 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 9,990 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 643 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (8-12 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.30-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสของสหรัฐ และมุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่น

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน มิ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการรายสัปดาห์ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือน ก.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์และธนาคารกลางเกาหลีใต้ ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนด้วยเช่นกัน