ทางการกรีซเพิ่งประกาศกฎหมายใหม่ กำหนดให้บางธุรกิจมีวันทำงานสูงสุด 6 วันต่อสัปดาห์ และกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ริเริ่มนโยบายนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตและการจ้างงานในประเทศยุโรปตอนใต้

กฎหมายใหม่ของกรีซเพิ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา กำหนดให้พนักงานของธุรกิจเอกชนที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง สามารถเลือกได้ว่าจะเพิ่มชั่วโมงทำงานเพิ่มจากปกติอีก 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือเปลี่ยนไปใช้ระบบทำงานแบบกะที่เพิ่มพิเศษเข้ามาอีกกะละ 8 ชั่วโมง 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อระบบทำงานแบบเดิมที่กำหนดให้มีชั่วโมงทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถขยายเป็น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้ แต่ในเบื้องต้น พนักงานบริการด้านอาหารและการท่องเที่ยวไม่รวมอยู่ในระบบทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน

มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสองประเภท ได้แก่ ธุรกิจที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ซึ่งจะใช้ระบบทำงานแบบกะหมุนเวียน และธุรกิจที่ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 5-6 วัน ซึ่งใช้ระบบทำงานแบบกะหมุนเวียนเช่นกัน

นายกรัฐมนตรีกรีซ คิริอากอส มิตโซทาคิส กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว “เป็นมิตรต่อคนทำงาน” และ “เติบโตอย่างยั่งยืน” เป็นนโยบายที่คิดมาเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานล่วงเวลาอย่างเพียงพอ และช่วยปราบปรามปัญหาแรงงานเถื่อน 

ด้านสหภาพแรงงานและผู้คนในแวดวงการเมืองกลับวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างรุนแรง

ยอร์กอส คัทซัมเบคิส อาจารย์สาขาวิชาการเมืองยุโรปและนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยลัฟเบอโรห์ของอังกฤษ มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของรัฐบาลกรีซเป็นการก้าวถอยหลังครั้งใหญ่สำหรับแรงงานในกรีซ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีชั่วโมงทำงานมากที่สุดในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปตามข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 

โดยเฉลี่ยแล้ว แรงงานชาวกรีกทำงานมากถึง 1,886 ชั่วโมงในปี 2565 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกาที่ 1,811 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ 1,571 ชั่วโมง

ด้านจอห์น โอเบรนแนน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสหภาพยุโรปจากมหาวิทยาลัยเมย์นูธแห่งไอร์แลนด์ ก็โพสต์ข้อความวิจารณ์นโยบายดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ชาวกรีกต่างก็มีชั่วโมงทำงานมากที่สุดต่อสัปดาห์อยู่ในแล้ว เมื่อเทียบกับแรงงานในประเทศอื่น ๆ ของกลุ่มสหภาพยุโรป และเมื่อมีกฎหมายนี้ออกมา พวกเขาก็อาจจะโดนบีบให้ต้องทำงานถึงสัปดาห์ละ 6 วัน

โอเบรนแนนยังวิจารณ์ว่านโยบายนี้เป็นแนวทางที่ไร้สาระที่คิดจะสวนกระแสโลกซึ่งกำลังปรับตัวสู่ระบบการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ

ที่มา : cnbc.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES