กำหนดกรอบบทบาทและทิศทางการดำเนินงาน สำหรับภาคพลังงานและภาคการขนส่ง เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคส่วนต่างๆ ใน กทม. นำไปปฏิบัติในการขับเคลื่อนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด กทม. ตลอดจนภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชน

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ กทม. มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนแม่บทฯ ภายในปี 2573 จำนวน 10 ล้านตัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทำโครงการส่งเสริมการจัดทำ “คาร์บอน ฟุตพริ้นท์” (Carbon Footprint) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2566 นำร่องใน 3 เขต ได้แก่ เขตดินแดง เขตประเวศ และเขตบางขุนเทียน หรือ การใช้รถขยะพลังงานไฟฟ้าก็ถือเป็นการลดคาร์บอนในภาคขนส่งของ กทม. เหมือนที่รณรงค์ให้ภาคเอกชนใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

ทั้งยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา ปรับเปลี่ยนรถราชการของกรุงเทพมหานคร เป็นรถ EV

“กทม. ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานของแผนการปฏิบัติการ ที่ผ่านมาทำแล้วใน 3 เขตนำร่อง พบว่ามีตัวเลขคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ชัดเจน โดยทาง อบก. ช่วยในเรื่องของยุทธศาสตร์ในการลดว่าต้องทำอะไรบ้าง”

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ตั้งเป้าขยายการทำคาร์บอนฟุตพรินต์ไปอีก 47 เขต โดยมีสำนักสิ่งแวดล้อม และ 3 เขตนำร่องเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ โดยจะทำให้มีคาร์บอนฟุตพรินต์ครบทั้ง 50 เขต โดยเฉพาะหน่วยงานสังกัด กทม. ไม่ว่าโรงเรียน อาคารสำนักงานต่างๆ รถขยะ รวมแล้วมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 200,000 ตันต่อปี เทียบกับทั้งเมืองที่ 43 ล้านตันต่อปี ถือว่ามีหน้าที่โดยตรงในการลดให้ได้จำนวน 200,000 ตัน

สำหรับการเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (EV) การติดตั้งโซลาร์เซล์ในหน่วยงานต่างๆ ของ กทม. จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง

นายพรพรหม กล่าวต่อว่า จาก 3 เขตนำร่อง จะพบว่าแต่ละแห่งมีมิติไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เขตบางขุนเทียนมีป่าโกงกางเยอะ เขตประเวศมีโรงขยะ ศูนย์กำจัดขยะ และเขตดินแดงเป็นพื้นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน จึงมีแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน แต่อยู่ภายใต้แนวทางในการดำเนินงาน 5 มาตรการ ได้แก่

1.การลดการใช้พลังงานภายในอาคารสำนักงาน 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ LED แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ในอาคารสำนักงาน 3.การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 4.การใช้ยานพาหนะไฟฟ้าและ 5.การจัดการขยะมูลฝอย

ส่วนเรื่องของการประหยัดพลังงาน นั้น กทม. มีแผนติดตั้งส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในหน่วยงาน โดยวางแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง กำลัง 1.7 เมกะวัตต์ (MW) คาดการณ์ผลผลิต 2,164 เมกะวัตต์ฮาว (MWh) ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 967 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อปี ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง กำลัง 2.7 เมกะวัตต์ (MW) คาดการณ์ผลผลิต 3,781 เมกะวัตต์ฮาว (MWh) ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 2,152.50 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อปี ซึ่งได้ทำ MOU กับการไฟฟ้านครหลวงในการติดตั้งแล้ว

ดังนั้น คาดว่าหากติดตั้งแล้วเสร็จ จะมีพลังงานที่ผลิตจากแสงอาอาทิตย์ได้รวม 4.7 เมกะวัตต์ (MW) ตั้งเป้าในปี 2568 ไปถึง 10 เมกะวัตต์ (MW).

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน