หลังจากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เข้ามารับตำแหน่ง ก็ได้พูดถึงแนวคิดที่จะปรับกรอบเงินเฟ้อจากปัจจุบัน 1-3% มาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องนี้จากงาน Meet The Press ผู้ว่าการแบงก์ชาติพบสื่อมวลชน มีคำตอบแล้ว!

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้ ระบุว่า การปรับกรอบเงินเฟ้อนั้น ต้องเป็นการปรับร่วมกันกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเวลาหารือกันปกติคือในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมองว่าต้องคุยกันและตกลงร่วมกัน สิ่งที่กระทรวงการคลังมีข้อเสนอมา ธปท. พร้อมรับไปพิจารณา

ทั้งนี้ ต้องถอยมาดูว่า เหตุผลของการมีกรอบเงินเฟ้อ มีไว้เพื่ออะไร กรอบเงินเฟ้อมีไว้ เพื่อยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ความชัดเจนนโยบายต่างๆ การปรับกรอบเป็นอะไรที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องชั่งหลายอย่าง

อย่างไรก็ตามหากดูในต่างประเทศ แทบไม่มีประเทศหลักประเทศไหนที่ปรับกรอบเงินเฟ้อ เพราะเหตุผลคือ ถ้าปรับอาจไม่ตอบโจทย์

การขยับกรอบเงินเฟ้อมีผล ต้องชั่งให้ดี ถ้าปรับกรอบ และการคาดการณ์เงินเฟ้อเปลี่ยนไป คาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น จากการปรับกรอบ หรือไม่มีกรอบเงินเฟ้อแล้ว อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงเงินเฟ้อสูง มีผลทันทีในการต่อรองราคา ต้นทุนกู้ยืมเงิน ตลาดบอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลต้องชั่งให้ดี

ดร.เศรษฐพุฒิ เล่าต่อว่า จากความกังวลปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำ 1% ทำให้ไม่เกิดการผลิต เพราะต้นทุนต่ำนั้น ต้องดูว่าสาเหตุเงินเฟ้อต่ำมาจากปัจจัยอุปทาน การอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล และเกิดจากการแข่งขันธุรกิจ ขึ้นราคาไม่ได้ เพราะแข่งขันด้านราคา

“ธปท. ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ ที่ห้ามให้ขึ้นราคา ไม่ใช่ประเภทอย่างนั้น การที่เงินเฟ้อสูงขึ้น ผู้บริโภคก็ไม่อยากเห็นภาคผลิตต้นทุนสูง แม้ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นได้ ย้ำว่า ธปท. ไม่ได้ทำหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ที่ห้ามขึ้นราคา”