ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรีฯ ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 67 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ในขณะที่ทางประมงจังหวัดได้ส่งข้อความประชาสัมพันธ์โครงการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยการประกาศจับตาย คดีแดงที่ 14/06/2567 ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ สร้างความสนใจจากนักตกปลา นักล่าปลาทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ตามที่นำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ปากพนัง ที่นำเสนอปัญหาในสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นแกนนำออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กล่าวว่า ตามปกติปลาหมอคางดำทางโรงงานปลาป่นเขารับซื้อกิโลกรัมละ 5-6 บาทเท่านั้น ในขณะที่ทางศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขาซื้อคละไซซ์กิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ส่วนเอกชนรับซื้อขนาดใหญ่ที่ติดแหหรือติดอวนขนาด 4-5 เซนติเมตรขึ้นไป กิโลกรัมละ 17-20 บาท ซึ่งถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนที่จะช่วยกันระดมจับปลาหมอคางดำมาขายทำให้ปลาหมอคางดำในธรรมชาติลดน้อยลงได้

สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ปากพนัง กล่าวต่อว่า โดยในช่วงคิกออฟไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำในวันที่ 14 ก.ค. นี้ที่โครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรีฯ เขาสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมทั้งหมด ช่างน่าแปลกใจที่ในขณะนี้ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และสงขลา ทางประมงจังหวัดเขาลงมารับผิดชอบในกิจกรรม จัดงบประมาณมาสนับสนุน และตั้งจุดรับซื้อเองกิโลกรัมละ 20 บาท แต่ทำไมประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กลับไม่มีงบประมาณสนับสนุนการจัดกิจกรรมเลย ขนาดเอกชนรับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท เขาก็ออกมาตีโพยตีพายว่าที่ประกาศรับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท ตนให้ข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตนไม่ได้บอกว่าประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชรับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท แต่หมายถึงเอกชนเขารับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท และตนยืนยันว่า ตนและสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่เห็นด้วยที่ประมงหรือหน่วยงานราชการมาเปิดใจรับซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท เชื่อว่าชาวบ้านที่วันนี้เขามีอาชีพหลักคือจับปลาหมอคางดำไม่มีใครขายแน่นอน

“ทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เรียกร้องให้แต่ละจังหวัดประกาศเป็นวาระจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้ท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณแก้ปัญหาตามระเบียบราชการได้หรือให้รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติไปเลยก็ได้ จะรีรออะไรกันหนักหนา รีรออยู่ทำไม สังคมไทย รัฐบาลหรือราชการไทยเป็นแบบนี้เห็นโลงศพแล้วยังไม่หลั่งน้ำตา ทำแบบขายผ้าเอาหน้ารอดอีก 5-10 ปีเชื่อว่าปลาหมอคางดำจะแพร่ระบาดเต็มพื้นที่ประเทศไทย เมื่อถึงเวลานั้นจะขนงบประมาณมาสักกี่พันล้านก็คงไม่สามารถแก้ไขได้ กว่าถั่วจะสุกงามันไหม้ไปหมดแล้ว” นายไพโรจน์ กล่าว

ขณะที่ นายเอกชัย ทรัพย์นวล อายุ 50 ปี ซึ่งอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และถูกภัยปลาหมอคางดำแพร่ระบาดกินทั้งอาหารกุ้งและกินลูกกุ้งในบ่อจนเกลี้ยง ขาดทุนย่อยยับ ได้นำผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบความพิเศษแปลกพิสดารของปลาหมอคางดำที่แตกต่างไปจากปลาและสัตว์น้ำทุกชนิดในท้องถิ่น จนกลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์จากต่างแดนสุดอันตราย

โดยนายเอกชัย ได้ทำการทอดแหในบ่อเลี้ยงกุ้ง 1 ครั้ง ปรากฏว่าติดปลาหมอคางดำทั้งตัวเล็กตัวใหญ่มากว่า 10 ตัว จากนั้นได้นำปลาหมอคางดำทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่มาพิสูจน์ความมหัศจรรย์ให้เห็นว่าแม้ตัวเล็กขนาด 1-2 นิ้ว แต่ตัวเมียทุกตัวมักจะมีไข่เต็มท้อง และในบางตัวพบว่าไม่มีไข่อยู่ในท้อง แต่เมื่อฉีกปากอ้าออกจะพบว่าไข่กลับมีอยู่ในปากเต็มไปหมด และยังพบว่าในปากของตัวผู้จะมีลูกปลาหมอคางดำตัวเล็ก อัดแน่นอยู่ในปากยั้วเยี้ยอย่างน่าสะพรึงกลัว มันมีรูปแบบวิธีการในการปกป้องไข่และลูกตัวเล็กๆ ของมันได้ดีผิดธรรมชาติของปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย ทำให้ไข่หรือลูกเล็กของมันรอดพ้นจากศัตรูได้ มันจึงสามารถแพร่ขยายพันธุ์และมีอัตราการรอดของลูกปลาสูงมากๆ และนี่คือความพิเศษของปลาหมอคางดำ

“นักวิชาการบอกว่ามันสามารถอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำเปรี้ยว แม้แต่น้ำเน่าเสียมันก็อยู่ได้ มันมีลำไส้ยาวกว่าปลาชนิดอื่นๆ 4 เท่า มันจะผสมและขยายพันธุ์ได้ทุกๆ 22 วัน เมื่อมันมีไข่ในท้องมันจะสำรอกออกมาเห็นในคลักหรือรังในแหล่งน้ำ แต่เมื่อมีภัยมารบกวน มันจะสามารถดูดไข่ หรือลูกตัวเล็กๆ ทั้งหมดกลับไปอมไว้ในปากได้ ทำให้ศัตรูไม่สามารถทำร้าย หรือทำลายไข่หรือลูกเล็กๆ ของมันได้ เมื่อเห็นว่าลูกมันแข็งแรงดีหรือปลอดภัย มันก็จะพ่นออกมาอาศัยและหากินเจริญเติบโตในแหล่งน้ำต่อไป ในทางตรงข้ามหากปลาหรือสัตว์อย่างอื่นวางไข่และออกลูกตัวเล็กๆ มันจะกินจนเกลี้ยง มันเป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ ตัดห่วงโซ่วิถีชีวิตของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แหล่งน้ำทุกแห่ง หากมีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดหรืออาศัยอยู่แทบจะไม่เหลือปลาหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นหลงเหลืออยู่อีกเลย ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง นี่คือมหันตภัยร้ายแรงจากปลาหมอคางดำ ที่นับวันจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ” นายเอกชัย กล่าว.