ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางชนิษา วิมลวัฒนา นายกเทศมนตรีเมืองสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี นายนาวาวิน ชัยโม รองนายกเทศมนตรีฯ และเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสองพี่น้อง ร่วมกับ นางสอิ้ง กิจสีรี ประธานชุมชนปฐมตวงทอง นางบุณยนุช เทพาธิป ประธานชุมชนประชาร่วมใจ นายกรกช เดชบุญ ประธานชุมชนร่วมพัฒนา นายสิทธาคม กิจพูนวงศ์ ประธานชุมชนรางภาษี นางปราณี เกิดโภคา ประธานชุมชนโพธิ์อ้น นางศุทธินีย์ อมรไตรภพ ประธานชุมชนศรีสำราญ นางจำนงค์ สุดโต ประธานชุมชนไผ่หมู่ นางธนิดา ชาโรจน์ ประธานชุมชนบางใหญ่ พร้อมด้วยคณะกรรมการชุมชนดังกล่าวฯ ลงพื้นที่มอบถังขยะให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เบื้องต้นดังกล่าว รวม 8 ชุมชน ตามที่ได้ยื่นความประสงค์ในการเขียนคำร้องขอรับถังขยะไว้กับทางสำนักงานกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสองพี่น้อง เนื่องจากถังขยะของเก่าชำรุดทรุดโทรม และเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถนำมาใช้งาน เพื่อใส่ขยะตามอาคารบ้านเรือนได้

นางชนิษา วิมลวัฒนา นายกเทศมนตรีเมืองสองพี่น้อง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ประกาศเรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 34/1 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ข้อ 7 ให้ท้องถิ่นจัดให้มีภาชนะรองรับขยะไว้ในที่สาธารณะ และสถานที่สาธารณะให้เพียงพอ และเหมาะสมกับประเภท ปริมาณขยะ และกิจกรรมในสถานที่นั้นๆ โดยอย่างน้อยต้องมีภาชนะรองรับขยะทั่วไป และขยะที่เป็นพิษ หรืออันตรายจากชุมชน นอกจากนั้นยังกำหนดลักษณะ และสีของถังขยะตามความในข้อ 8 ของประกาศนี้ ภาชนะรองรับขยะตามข้อ 7 ต้องมีลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยมีสีเฉพาะสำหรับรองรับขยะแต่ละประเภท หรืออาจกำหนดข้อความ หรือสัญลักษณ์อื่นซึ่งแสดงถึงขยะประเภทนั้นไว้อย่างชัดแจ้งที่ (1) สีน้ำเงิน สำหรับขยะทั่วไป (2) สีเขียว สำหรับขยะอินทรีย์ (3) สีเหลือง สำหรับขยะนำกลับมาใช้ใหม่ (4) สีส้ม สำหรับขยะที่เป็นพิษ หรืออันตรายจากชุมชน

“ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุน การรณรงค์การลดขยะ และการคัดแยกมูลฝอย โดยการให้ชาวบ้าน และประชาชนได้มีส่วนร่วม ตามที่เทศบาลเมืองสองพี่น้อง ได้มีโครงการการส่งเสริมให้ประชาชน จัดการขยะมูลฝอยในบ้านเรือนที่พักอาศัย และภายใน 19 ชุมชน โดยใช้หลักการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้คัดแยกขยะรีไซเคิลรวมถึงการใช้เศษอาหารทำปุ๋ยไว้ใช้เอง หรือแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ส่วนการจัดการขยะมูลฝอยในบ้านให้มาทิ้งในถังขยะ ตามจุดที่ได้กำหนดตั้งวางถังขยะไว้อย่างเป็นระเบียบ ทำให้ถนนปลอดขยะ โดยพนักงาน และเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองสองพี่น้อง นำรถเก็บขยะจากถังขยะนำไปกำจัดทิ้งทุกวัน” นางชนิษา กล่าว.