เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ ว่า

ความวุ่นวายที่เกิดจากการเลือก สว. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติและวิธีการได้มา เกิดจากรัฐธรรมนูญที่ คสช. ต้องการให้ สว. ชุดแรกมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อให้หัวหน้า คสช. ได้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อ แต่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นหลังต้องหาทางแก้ไขกันเอง

ประเด็นสำคัญลำดับแรกที่ต้องพิจารณาคือ การที่ประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวจำเป็นต้องมี สว. หรือไม่ ซึ่งหากคำตอบคือประเทศไทยคุ้นชินกับการมี สว. ถึงขนาดมีการก่อสร้างห้องประชุม สว. ไว้เป็นการถาวรแล้ว ก็จะต้องตอบคำถามต่อไปว่า “จะให้ สว. ทำหน้าที่อะไร” เพื่อนำมาสู่การกำหนดคุณสมบัติและวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง ให้เหมาะสมกับหน้าที่และอำนาจของ สว. ต่อไป

สำหรับคุณสมบัติและวิธีการได้มาซึ่ง สว. ชุดเลือกกันเอง มีความย้อนแย้งและไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหลายประการ เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 114 บัญญัติให้ สส. และ สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่ สว. กลับมาจากการเลือกกันเอง โดยประชาชนถูกกันออกไม่ให้มีส่วนร่วม รวมทั้งผู้ที่ได้รับเลือกได้คะแนนคนละหลักสิบ สูงสุดไม่ถึง 80 คะแนน แต่ให้เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยจึงย้อนแย้งและขาดการยอมรับจากประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญยังให้ สว. ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย โดยบัญญัติให้ส่งร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบ แล้วให้วุฒิสภาพิจารณาตามมาตรา 136 และให้อำนาจ สว. เข้าชื่อต่อประธานเพื่อส่งร่าง พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. ที่เห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 และ 173

อีกทั้งการลงมติตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องพึ่งเสียง สว. อย่างน้อย 1 ใน 3 ของสภาแต่การที่ สว. เลือกกันเองชุดนี้ไม่ได้มาจากฉันทามติของประชาชนทั่วประเทศ ดังนั้น สว. จะทำหน้าที่ให้ตรงตามเจตนารมย์และความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้อย่างไร จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เผด็จการทิ้งไว้ให้ ซึ่งทางออกทางเดียวของการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ฉะนั้นจากเหตุผลดังกล่าว สว. จะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญหรือ