เป็นการปรากฏตัวและพูดคุยกับสื่อมวลชนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบหลายเดือน สำหรับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายคำถามที่ยังต้องการคำตอบ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากผู้ว่าการแบงก์ชาติ

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ลงมาพบกับสื่อไทยในงาน Meet The Press โดยในส่วนหนึ่งได้ตอบคำถามเรื่อง ทำไมไม่ลดดอกเบี้ย? โดย ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ให้เหตุผลว่า เกิดคำถามเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบ ทำไมไม่ลดดอกเบี้ย ต้องบอกว่าการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายเป็นเท่าไร ไม่ได้ดูเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว ต้องดูการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ควบคู่กัน ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าจะดูแค่เงินเฟ้อ

“ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน หรือเสถียรภาพต่างประเทศ ต้องมองภาพรวมไปพร้อมกัน อย่าให้เงินเฟ้อสูง เพราะกระทบทุกคน ทั้งค่าครองชีพและต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้นสูง ขีดความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในโลกลดลงด้วย ดอกเบี้ยต้องพยายามให้สมดุล มองมุมใดมุมหนึ่งอาจไม่เหมาะ ต้องชั่งน้ำหนักในหลายมิติ”

ดร.เศรษฐพุฒิ แจงเพิ่มเติมว่า การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบาย ต้องมองไปข้างหน้าไม่ได้ดูแค่ตัวเลขปัจจุบัน การตัดสินใจเหมือนกับต้องดูว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร นโยบายที่ตัดสินใจวันนี้มีผลข้างหน้า

หากดูเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 1.5% ขณะที่เงินเฟ้อติดลบ คำถามทำไมไม่ลดดอกเบี้ย คือ ไม่สามารถดูตัวเลขวันนี้ได้ ต้องมองไปข้างหน้า ตัดสินใจเพื่อดูแนวโน้มมองแล้วว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจทยอยฟื้นกลับเข้าสู่ศักยภาพ 3% ในปี 68 ซึ่งจีดีพีไตรมาสแรก 1.5% ดีกว่าคาด และคาดว่าไตรมาส 2 จีดีพีเกิน 2%, ไตรมาส 3 ใกล้ 3% และไตรมาส 4 ใกล้ 4% เป็นการฟื้นตัวค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในปี 68 เศรษฐกิจไทยโต 3% ตามศักยภาพของไทย

“ถ้าดอกเบี้ยต่ำเกินไป การกู้ยืมจะเติบโตไปเรื่อยๆ ทำให้เสถียรภาพการเงินเสื่อมไป หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91% แต่ในอดีตไม่ถึง 60-70% เริ่มไต่จาก 85% ซึ่งเป็นช่วงลดดอกเบี้ยจาก 1.75% เป็น 1.5% และคงระดับต่ำไว้นาน จนเริ่มขึ้นดอกเบี้ย และลดอีกครั้งในช่วงโควิดมา เมื่อหลังโควิดปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ 2.50%”

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยืนยันระดับดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% เป็นระดับที่เหมาะสมกับมุมมองข้างหน้าที่มอง ถ้ามุมมองข้างหน้าเปลี่ยนไปอย่างมีนัย ทั้งเงินเฟ้อเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยนไป มีปัญหาเสถียรภาพ ก็พร้อมเปลี่ยนดอกเบี้ย ไม่ได้ปิดประตู เพราะความเสี่ยงโลกมีมหาศาล ไม่ได้ยึดติด แต่เวลานี้เป็นดอกเบี้ยที่เหมาะกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ดูแลเงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน

ย้ำว่า อย่าไปคิดว่าดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียว ยังมีเครื่องมืออื่นด้วย สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (RL) เหมาะกว่า ทำให้มีคนจ่ายได้ อยากช่วยคนลำบากจริง ส่วนเรื่องดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดนั้น ดอกเบี้ยไทยไม่ได้ดูต่างประเทศ ไม่ได้ดูส่วนต่าง ไม่ได้ดูว่าขึ้นหรือลง แล้วต้องทำตาม โดยไทยต้องดูเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน และไทยเป็นประเทศเล็กๆ เป็นประเทศเปิดทางด้านเศรษฐกิจ ส่งออก นำเข้า ท่องเที่ยว หนี้ไม่พ้นต้องมองเสถียรภาพเรื่องต่างประเทศด้วย”