จากกรณีการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ในหลายพื้นที่ของ จ.สมุทรสงคราม ส่งผลให้เกษตรกร และชาวประมง ต่างได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่วนในภาคใต้พบที่ จ.นครศรีธรรมราช และมีรายงานว่า พบบางส่วนที่ อ.ระโนด จ.สงขลา โดยหลายฝ่ายวอนขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุนงบประมาณในการกำจัด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ และหน้าเพจเฟซบุ๊ก โดยออกประกาศจับปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร และทำลายห่วงโซ่ตามธรรมชาติของปลาพื้นถิ่นในประเทศไทย

โดยปลาหมอคางดำมีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ อยู่ได้แทบทุกสภาพน้ำ ซึ่งพบได้ทั้งในน้ำจืด รวมทั้งปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน และในทะเล แต่จะไม่อยู่ในเขตน้ำลึก โดยเพศผู้จะมีสีดำบริเวณหัว และบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าเพศเมีย

สำหรับในส่วนของ จ.สงขลา ประชาชนหรือชาวประมงที่พบปลาหมอคางดำ สามารถติดต่อ และแจ้งมาที่สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานประมงใกล้บ้าน หรือโทรฯ ด่วนได้ที่ 0-7431-1302 และทางสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ยังได้ทำเป็นคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นปลาหมอคางดำ สามารถส่งข้อมูลที่จำเป็น รวมทั้งภาพถ่าย และพิกัดจุดที่พบ เพื่อให้ทราบถึงบริเวณที่มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ และเป็นฐานข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปหลังจากนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเบื้องต้นมีประชาชนให้ข้อมูลว่า พบปลาหมอคางดำในพื้นที่ ต.คลองแดน และ ต.ระวะ อ.ระโนด ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อำเภอคาบสมุทรสทิงพระ ส่วนอำเภออื่นๆ ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ที่มีแนวเขตเชื่อมต่อกันทั้ง อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ และ อ.กระแสสินธ์ุ นั้น ยังไม่มีรายงานการพบปลาหมอคางดำ แต่อย่างใด

นอกจากนั้นเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา โดย นายเจริญ โอมณี ประมงจังหวัดสงขลา พร้อมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อพิจารณากำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา โดยมี นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน

หลังเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะทำงานปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานคณะทำงาน โดยให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณามาตรการและกิจกรรมภายใต้โครงการจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำด้วย 6 มาตรการ ประกอบด้วย การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด, การกำจัดหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์, การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตชนกัน, การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ และการติดตาม ประเมินผล และบริหารโครงการ.