สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ว่า การยื่นจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศสำหรับนวัตกรรมที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 8 เท่า ในรอบ 6 ปี และส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน โดยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี 2566 มีการยื่นจดสิทธิบัตรแล้วทั้งหมด 54,000 ฉบับ และร้อยละ 25 ยื่นขอในปี 2566

นายดาเรน ถัง ผู้อำนวยการใหญ่ไวโป กล่าวว่า เอไอที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ตั้งแต่ข้อความ, วิดีโอ, เพลงและรหัสคอมพิวเตอร์ ด้วยการป้อนคำสั่งง่าย ๆ กลายเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลก แต่สิทธิบัตรเจเนอเรทีฟ เอไอ คิดเป็นเพียงร้อยละ 6 ของสิทธิบัตรเอไอทั้งหมดทั่วโลก

อย่างไรก็ดี จำนวนการยื่นจดทะเบียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไวโอย้ำว่า สิทธิบัตรเจนเอไอ เพิ่มขึ้น 8 เท่า นับตั้งแต่ปี 2560 หลังการเปิดตัวสถาปัตยกรรมเครือข่ายประสาทเชิงลึก ที่อยู่เบื้องหลังโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ซึ่งกลายมาเป็นคำพ้องความหมายกับเอไอเป็นครั้งแรก

“นี่เป็นวงการที่กำลังเฟื่องฟู” นายคริสโตเฟอร์ แฮร์ริสัน ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์สิทธิบัตรของไวโปกล่าว เทคโนโลยีดังกล่าวขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย รวมถึงแชตบอท เช่น แชตจีพีที และเจมินีของกูเกิล มากไปกว่านั้น ยังสามารถช่วยออกแบบโมเลกุลใหม่สำหรับการพัฒนายา และช่วยให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกด้วย

รายงานไวโประบุว่า ระหว่างปี 2557-2566 มีการจดสิทธิบัตรเจนเอไอมากกว่า 38,000 รายการจากจีน มากกว่าสหรัฐ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ถึง 6 เท่า ที่จำนวน 6,276 รายการ ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ในอันดับ 3 ที่ 4,155 รายการ ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่ 3,409 รายการ ด้านอินเดียยื่นจดสิทธิบัตรเจนเอไอ 1,350 ฉบับ ถือเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงสุด ที่ร้อยละ 56

ผู้ประกอบสมัครเล่นในตลาดเจนเอไอ มีบริษัทเทนเซ็นต์ อยู่ในอันดับต้น ๆ ตามมาด้วย ผิง อัน อินชัวรันซ์, ไป่ตู้ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ในขณะเดียวกัน ไอบีเอ็ม บริษัทสัญชาติสหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 5 เท่านั้น ตามมาด้วยอาลีบาบา, ซัมซุงของเกาหลีใต้ และบริษัทแม่ของกูเกิล อัลฟาเบต ส่วนบริษัทไบต์แดนซ์ ผู้ผลิตแอปพลิเคชันติ๊กต็อก และไมโครซอฟท์ อยู่ที่อันดับ 9 และ 10 ตามลำดับ

เอไอสร้างสรรค์ภาพและวิดีโอเกือบ 18,000 รายการ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ขณะที่เอไอสร้างสรรค์ข้อความ หรือคำพูดและเพลง มีเกือบ 13,500 รายการ รายงานของไวโปพบว่า สิทธิบัตรเจนเอไอที่ใช้ข้อมูลโมเลกุล, ยีน และโปรตีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีสิ่งประดิษฐ์เกือบ 1,500 รายการ นับตั้งแต่ปี 2557 และเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 78 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ผู้อำนวยการใหญ่ไวโปกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “รายงานของไวโปมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต้นน้ำ เพื่อที่จะสามารถคาดเดา ถึงการเปลี่ยนแปลงในปลายน้ำได้ง่ายขึ้น”

ขณะเดียวกัน ถังทราบถึงความกลัวของเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัว รวมไปถึงโอกาสที่จะสูญเสียงานจำนวนมาก, การขัดขวางอุตสาหกรรม และเหยียดหยามการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา “หากเจนเอไอบ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และขัดขวางไม่ให้ผู้สร้างที่เป็นมนุษย์หาเลี้ยงชีพได้ ผมคิดว่านั่นจะเป็นสิ่งที่เราต้องระวังจริง ๆ” เขากล่าว

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ไวโป เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อปกป้องการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ พร้อมยืนยันว่าเราจะไม่ถูกเอาเปรียบโดยระบบเอไอเหล่านั้น เขาแสดงความหวังว่า จะมีการตกลงหรือจัดการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ระหว่างบริษัทที่กำลังฝึกอบรมโมเดล กับบริษัทหรือผู้สร้างที่กำลังสร้างเนื้อหา

ทั้งนี้ ไวโปยืนกรานว่า เทคโนโลยีเอไอจะต้องทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศนวัตกรรม โดยการส่งเสริมและดำเนินการตามนวัตกรรมที่อิงจากมนุษย์ ไม่ใช่ทำลายมนุษย์.

เครดิตภาพ : AFP