เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  มีวาระการพิจารณาทบทวนและสรุปประสบการณ์การเลือกวุฒิสภา (สว.) โดยเชิญเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ติดภารกิจ ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มไอลอว์ (i Law) และตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วมชี้แจงด้วย

โดยตัวแทนไอลอว์  กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ กกต. เปิดเผยข้อมูลการบันทึกภาพกล้องวงจรปิดทั้งหมด ในการเลือก สว. ทุกระดับ รวมถึงผลคะแนนดิบและผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงและตรวจสอบได้ เพราะจากการสังเกตการณ์ไม่สามารถตรวจสอบกระบวนการและผลได้เลย นอกจากนี้มาตรฐานการควบคุมการเลือกไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันทุกหน่วย พร้อมฝากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ด้วย เพราะหากยังไม่สามารถแก้ได้แล้วเสร็จ สว.ก็จะมีที่มาในลักษณะนี้

ขณะที่ตัวแทนสื่อมวลชนระบุถึงกระบวนการจัดการหลังบ้านของ กกต. ว่า ระบบการเลือกในครั้งนี้มีปัญหาตั้งแต่ระบบลงทะเบียนแล้ว โดยสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนไปตั้งแต่รอบแรก รายชื่อตกหล่น ทำให้ไม่สามารถเข้าไปบันทึกภาพด้านในห้องเลือกได้ ต้องใช้ภาพจากระบบกลางของ กกต. ซึ่งตอนแรกเข้าใจตรงกันว่าจะเป็นการบันทึกภาพ CCTV 20 กลุ่ม แต่ปรากฏว่าพอเลือกจริง ภาพที่ออกมากลับกลายเป็นลักษณะอีเวนต์ มีไลฟ์ มีผู้บรรยาย ตัดภาพสลับกันไปมา ทำให้ไม่ได้เห็นบรรยากาศการเลือกที่แท้จริง นอกจากนี้ สิ่งที่พบยังมีสิ่งที่ต้องสงสัยคือมีกลุ่มคนที่คอยดักรอผู้สมัครที่ออกมา พร้อมส่งสัญญาณให้กัน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเป็นข้อสังเกตถึงความโปร่งใส

นายธนกร วังบุญคงชนะ กมธ.และที่ปรึกษา ตั้งข้อสังเกตว่าเราต้องแยกว่าเราสงสัยความโปร่งใสของ กกต. หรือเราสงสัยผู้สมัคร ตนดูแล้ว ความโปร่งใสมันเกิดจากผู้สมัครหรือไม่ วันนี้การเลือก สว.ถูกออกแบบมาแบบนี้ จะให้เหมือน สส.ไม่ได้ กระบวนการหรือระเบียบที่ออกมา 20 กลุ่มอาชีพ ตนรับได้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ทุกสาขาอาชีพเข้าไปสู่ สว.ได้ ซึ่งตนในฐานะ สส. ทำได้แค่ติดตามข่าว ตั้งคำถามว่ามันผิดหรือไม่ ก็ไม่รู้ว่าจะโทษใคร เพราะมันถูกออกแบบมาแบบนี้ ถ้าคนเข้าใจคณิตศาสตร์มากกว่าคนอื่นก็ได้เปรียบ

“ทุกคนสงสัยว่า 1-6 ทุกอาชีพ 70-80 คะแนนหมดเลย แต่อันดับ 7-9 ได้ 22-26 คะแนน ตรงนี้จะแก้อย่างไร มองไปวันข้างหน้าดีกว่า ทุกอย่างมาตามกระบวนการที่ถูกต้อง ผมยังไม่เห็นใครทำผิดกติกาเลย กกต.ก็ต้องตรวจสอบ ผมอยากฝากเอาไว้อย่าไปด้อยค่าอาชีพต่างๆ เช่น คนขับรถ หรือใคร ผมคิดว่าตรงนี้มันถูกออกแบบว่าทุกอาชีพเข้ามาได้ ชนชั้นใดก็ต้องเข้ามาได้ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปมองเรื่องอาชีพแต่มองว่าถ้าเขาเข้ามาแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย คุณก็ต้องตรวจสอบ คำว่าโปร่งใสมันเกิดจากการที่ กกต. ทำหน้าที่สุจริตหรือเปล่า ตรงนี้ต้องดู แต่ผมว่าการเลือกครั้งนี้ กกต. ต้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมาไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และผมมองมันวุ่นวายก็เพราะเป็นการเลือกครั้งแรก ไม่เคยเลือกมาก่อน ผมคิดว่าต้องให้โอกาส คนไหนที่ถูกร้องเรียนก็ให้เข้าไปชี้แจง” นายธนกร กล่าว

ด้านนายพริษฐ์ กล่าว สรุปว่า ทกคนน่าจะมีจุดเชื่อมคือการเลือก สว. ครั้งนี้เป็นปัญหา เป็นส่วนผสมกติกาที่ถูกเซตมาแล้ว ตนคิดว่าต้องแยก ประเด็นแรก ในอนาคตจะทำอย่างไร ตนคิดว่าวุฒิสภาไม่จำเป็น แต่ถ้าจะมีและอำนาจเยอะก็ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะให้เลือกแบบ สส.ก็จะเกิดข้อครหา ดังนั้น อาจจะมีโมเดลจากการเลือก ส.ส.ร. ก่อน  ส่วนประเด็นที่สอง ตนคิดว่าเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ต้องแยกเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและเรื่องที่ถูกกฎหมายแต่ไม่เหมาะสม โดยตนจะนำความเห็นนี้ไปเสนอเชิญ กกต.มาอีกครั้ง.