เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.ค. ที่ ห้องประชุม N 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา(เกียกกาย) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ได้นำปัญหาการก่อสร้างโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ทั้ง 8 โครงการหรือที่ชาวบ้านประนาฌว่าเป็นโครงการ 7 ชั่วโคตร ยกขึ้นพิจารณาเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อติดตามปัญหาการบริหารงบประมาณกว่า 545 ล้านบาท ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเกิดปัญหาการทิ้งงาน ที่ไปกระทบต่อความมั่นคง สวัสดิภาพของประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้เชิญ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง , เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ , เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ,ประธานกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปรบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และคณะ กมธ.ฯ คณะที่ปรึกษา กมธ.-ผู้เชี่ยวชาญฯ-ผู้ชำนาญการฯ-เลขานุการประจำคณะกมธ.ฯ

การประชุมกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบายแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมถึงปัญหาอุปสรรค์อย่างละเอียด โดยเฉพาะเหตุผลปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้าไปจนถึงกระบวนการออกคำสั่งทางปกครองให้ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ เป็นผู้รับจ้างทิ้งงานใน 6 โครงการจาก 8 โครงการ รวมถึงการที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้นำประกาศ ว.1459 รวมถึง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มาเอื้อประโยชน์ให้กับ 2 หจก.ดังกล่าว โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับแม้แต่บาทเดียว และการที่กรมโยธาฯ ได้ประกาศเป็นผู้รับเหมาทิ้งงานไปแล้ว แต่เหตุผลใด กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ถึงยังไม่ประกาศให้ 2 หจก.เป็นผู้รับจ้างทิ้งงานเพราะจะทำให้ 2 หจก.สามารถไปประมูลงานกับหน่วยงานอื่น อย่างเช่น ได้เกิดขึ้นกับ กรมทางหลวง เป็นการก่อสร้างถนนของ แขวงการทางจังหวัดกาฬสินธุ์ งบประมาณกว่า 39 ล้านบาท ที่ยังไปก่อปัญหาในลักษณะดังกล่าวอีกที่ จ.ระยอง ทั้งนี้รวมถึงกรณีการยกเลิกโครงการจะสามารถเรียกเงินภาษีคืนให้กับแผ่นดินได้อย่างไรทั้งค่าปรับ ค่าเสียหายและผลกระทบต่อประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน

นายอทิทักษ์ ฐานะรัตน์ ที่ปรึกษาประธาน กมธ.ติดตามงบประมาณฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความเข้มข้น ผู้แทนแต่ละหน่วยงานได้มาชี้แจงแต่สิ่งที่เป็นข้อสังเกตุในการชี้แจงจะเป็นเรื่องการทิ้งงานของผู้รับจ้างกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเงินภาษีประชาชน รวมถึงการใช้มาตรการณ์ช่วยเหลือผู้รับจ้างในการใช้ ว.1459 กับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ปี 2560 ที่ขัดต่อหลักการปกป้องภาษีของแผ่นดิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดจึงเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อภาครัฐ จำเป็นที่ทุกหน่วยงานจะต้องเข้าตรวจสอบ

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มติ กมธ.ฯ มี 2 เรื่อง ที่เป็นปัญหาสำคัญ กรณีแรกมีมติข้อสังเกตุไปถึง ปปท. – ปปช.- สตง. เนื่องจากทั้ง 3 หน่วยงานนี้ ได้ชี้แจงว่าปัญหาการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตรที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการร้องทุกข์เฉพาะกรณีปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ไม่ได้ร้องเรียนหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตจึงไม่ได้เข้าตรวจสอบ แต่หลังจากการประชุมแล้ว กรณีนี้เชื่อได้ว่ามีเหตุสงสัยเกี่ยวข้องกับการทุจริต จึงขอให้ ปปท.-ปปช.-สตง. ได้ทำการตรวจสอบการประมูลย้อนหลังทั้ง 8 โครงการตั้งแต่ปี 2562 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพราะผลการพิจารณาในที่ประชุมกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีการนำเสนอข้อมูลในเรื่องของราคาการก่อสร้างในแต่ละโครงการที่สงสัยอาจจะมีการฮั้วประมูลงาน เนื่องจากมีราคาค่าก่อสร้างที่ต่ำกว่าราคาเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ กับผลของการชี้แจงในการยกเลิกสัญญาไปแล้ว 6 โครงการ ว่าจะมีการจัดซื้อจัดจ้างรายใหม่เมื่อใด จะมีมูลค่าส่วนต่างกันอย่างไร เพราะการก่อสร้างใหม่กับเม็ดเงินที่ต้องลงทุนใหม่นั่นคือความเสียหายที่ผู้รับจ้าง(ทิ้งงาน)ต้องชดเชยให้กับภาครัฐ ส่วนกรณีที่สอง โครงการที่เหลืออีก 2 โครงการที่ยังไม่ยกเลิกนั้น กมธ.มีมติขอทราบว่า กรมโยธาฯ จะทำการยกเลิกสัญญาอีกเมื่อใด เพราะทั้งหมดจะมีค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาครัฐที่จะต้องเรียกเงินภาษีคืนให้กับแผ่นดิน

“การทำงานกับภาครัฐโดยปกติทั่วไปเมื่อเกิดความเสียหายต่อภาครัฐ ผู้รับจ้างจากหน่วยงานนั้นๆ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด แต่ในกรณีนี้พบว่ามีการช่วยเหลือผู้รับจ้างอย่างน่าสงสัย แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ช่วยเหลือผู้รับจ้างโดยการใช้ ว.1459 เป็นค่าปรับของกรมบัญชีกลาง อ้างปัญหาสถานการณ์โควิด แต่กลับพบว่า การประกาศใช้ ว.1459 จะอยู่ในช่วงปี 2563-65 แต่การนำเสนอของกรมโยธาฯในที่ประชุมแจ้งว่า ว.1459 เริ่มใช้ ในปี พ.ศ. 2565-68 ที่น่าจะขัดต่อข้อเท็จจริง อีกทั้งอีกกรณีการช่วยเหลือ ก็พบข้อสงสัยต่อกระบวนการช่วยเหลือผู้รับจ้าง โดยใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ทั้งสองกรณีนี้จึงต้องให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบส่งเอกสาร หนังสืออธิบายถึงหลักเกณฑ์ การทำงานช่วยเหลือการตรวจรับงาน ผู้รับจ้างในทุกโครงการฯ” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัญหานี้ข้อสงสัยในที่ประชุมพบว่า มีการเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างที่สูงเกือบครึ่งของงบประมาณ คือเบิกไปแล้วเกือบ 250 ล้านบาท ขณะที่ งบประมาณรวมมีจำนวน 545 ล้านบาท ที่ต้องการให้ ปปท.-ปปช.-สตง. เข้าตรวจสอบย้อนหลังทั้งหมดว่าเหตุใดทำไม 2 หจก. จึงไม่ยอมก่อสร้าง ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ และทำไมถึงมีการปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน รวมถึงใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ในกรณีนี้ ในอีกประเด็น กรณีการที่ กรมโยธาฯขึ้นแบล็คลิตส์ 2 หจก. ทั้ง ประชาพัฒน์-เฮงนำกิจ เป็นผู้รับจ้างทิ้งงาน แต่รายงานพบว่า กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ยังไม่ทำการขึ้นแบ็ลค์ลิตส์ เหมือนกับที่ทำการบริษัทหรือหจก.อื่นๆ จึงทำให้ 2 หจก.นี้ สามารถไปประมูลงานกับหน่วยงานอื่นได้อีก กมธ.ฯ จะออกหนังสือเป็นข้อสังเกตุไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อทำการขึ้นแบล็คลิสต์ ทั้งนี้ในส่วนของปัญหาทั้งหมด มีระยะเวลาในการตรวจสอบภายน 45 วัน จะต้องชัดเจนว่าปัญหานี้คืออะไร ส่วนการทำงานจึงจะมีการติดตามปัญหานี้อย่างต่อเนื่องเพื่อพี่น้องประชาชน ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนผู้กระทำผิดก็ต้องรับโทษ ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถส่งปัญหาการก่อสร้างในโครงการดังกล่าวนี้ได้มา กมธ.ฯ

ว่าที่ ร.ต.สมบูรณ์  หัสดม ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช. จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไมปรากฏเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. มีเพียงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นละออง และปัญหาการก่อสร้าง ในโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำโครงการที่ 8 ใกล้ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี  จ.กาฬสินธุ์  โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และแชร์ในกลุ่มข่าวกาฬสินธุ์ ตนในฐานะ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยเมื่อวันที่ 19 มี.ค.67ได้ประชุมร่วมกับ ป.ป.ท. เขต 4  และโยธาฯ จ.กาฬสินธุ์  มีการพูดคุยกันในประเด็นผู้รับเหมาทิ้งงาน และมติที่ประชุมให้โยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ รายงานให้กรมโยธาฯ ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางในการแก้ไข เพื่อให้ผู้รับจ้างมีการปรับแผนงาน ถ้าไม่แล้วเสร็จ ให้กรมโยธาฯ ยกเลิกสัญญา ทราบว่าทางกรมโยธาฯ มีการติดตามเร่งรัดโครงการ โดยส่งหนังสือไป 16 ฉบับ แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จแต่อย่างใด แต่มีการยกเลิกสัญญาหลายโครงการแล้วว่าที่

ร.ต.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ต้องดูตามพยานหลักฐาน ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามกระบวนการหากมีการร้องเรียนเข้ามา  ถ้าปรากฏแต่เพียงว่ามีการเสนอราคาที่ใกล้เคียงกันนั้น หลักฐานยังไม่เพียงพอว่ามีการสมยอม ต้องดูพยานหลักฐานอื่น มีการจ่ายเงินผลประโยชน์หรือไม่ ว่าไปตามพยานหลักฐาน แต่สิ่งที่อยากจะฝากหน่วยงานรัฐไว้คือ ที่ผ่านมามีผู้รับจ้างทิ้งงานหลายโครงการ โดยใน 8 โครงการนี้ พบว่ามีผู้รับจ้าง แค่ 2 เจ้า จึงอยากฝากหน่วยงานรัฐทุกหน่วย ในเรื่องการประกวดราคาอย่าพิจาณาราคาต่ำสุดเพียงอย่างเดียว ให้ดูความสามารถผู้รับจ้างด้วย ที่ผ่านมา ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียนโครงการก่อสร้างหลายแห่ง ซึ่งผู้รับจ้างไม่ได้ก่อสร้างเอง แต่ขายงานให้บริษัทอื่นๆ แม้ในสัญญาชัดเจนว่าห้ามจ้างช่วงต่อ  ดังนั้นในการคัดเลือกให้คำนึงความสามารถผู้รับจ้างเพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นด้วย

ด้านนายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ในจำนวน 8 โครงการ กรมโยธาฯ ได้เบิกเลิกสัญญาไปแล้ว 6 โครงการ และอยู่ในกระบวนการบอกเลิกสัญญาอีก 2 โครงการ โดยจะยกเลิกสัญญาทั้ง 8 โครงการ  สำหรับปัญหาอุปสรรคที่ผู้รับจ้างดำเนินการล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์โควิด ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและปฏิบัติตามมาตการควบคุมโรค ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และมีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยรัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยคิดค่าปรับล่าช้าร้อยละ 0 ตามเงื่อนไขที่กำหนด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ  ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการตามระยะเวลาที่กำหนด โดยเริ่มตั้งแต่ 26 มี.ค.63-30 มิ.ย.65  แต่ปัจจุบันงานก็ยังล่าช้า และสร้างผลกระทบต่อประชาชน เป็นเหตุให้เชื่อว่าไม่สามารถทำงานตามกำหนด กรมโยธาจึงจะยกเลิกสัญญาทั้ง 8 โครงการ และจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ให้เร็วที่สุด ซึ่งการทิ้งงานเกิดจากการขาดสภาพคล่อง และหลายปัจจัย เช่น การทุจริตภายในบริษัทที่รับจ้างเอง ลูกน้องโกงเถ้าแก่ หรือเถ้าแก่ใช้เงินผิดประเภท เป็นต้น ซึ่งทางส่วนราชการเองไม่อยากพบเจอเรื่องเหล่านี้ ไม่มีหน่วยใดต้องการให้เกิดความล่าช้า.