นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายสแตนเลย์ โลว์ ปลัดกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม ว่า ประเด็นหารือทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนนโยบายขับเคลื่อน ภาคเกษตรร่วมกัน โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งฝ่ายสิงคโปร์มีแผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน Singapore Green Plan 2030 เป็นวาระระดับชาติที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาพื้นที่สีเขียว

ส่วนฝ่ายไทยมีแนวทางการดำเนินงาน BCG Model ที่มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมให้บรรลุ 3 สูง (3 Highs) ได้แก่ 1. ประสิทธิภาพสูง (High Efficiency) โดยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เพิ่มผลผลิต 2. การผลิตทางการเกษตรที่มีมาตรฐานสูง (High Standard) โดยการนำระบบการผลิตที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุด และ 3. อาชีพที่มีรายได้สูง (High Income) มุ่งเน้นการสร้างรายได้ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรระดับพรีเมียมและหลากหลาย โดยเน้นคุณภาพสินค้าซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาตลาด นอกจากนี้ ฝ่ายสิงคโปร์มีความสนใจที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ เกี่ยวกับด้านเกษตรกับฝ่ายไทยในหลายสาขา อาทิ การศึกษาดูงานด้านการเพาะเลี้ยงปลากะพง การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่อง Climate change และการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร (Carbon Credit) เป็นต้น

“นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือภาคการเกษตรระหว่างกัน ซึ่งประเทศไทย มีสินค้าที่มีความหลากหลาย มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากลและปลอดภัย อาทิ สินค้าด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ รวมทั้ง รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการทำฝนเทียม เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน มลพิษ และหมอกควัน ฝ่ายไทยได้เตรียมความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อยกระดับและพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย”

ทั้งนี้ สาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 10 ของไทย โดยระหว่างปี 2564-2566 ภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 598,580 ล้านบาท จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 329,652 ล้านบาท และมูลค่า การนำเข้าเฉลี่ยปีละ 268,928 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยไปสิงคโปร์ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัสปรุงแต่ง เช่น แกงไก่บรรจุกระป๋อง 2. ข้าว เช่น ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ 3. น้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีตอื่น ๆ 4. นมและครีม และ 5. สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง