ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไต้หวัน-ไทย ซึ่งผ่านการเจรจามานานกว่าสองปี ได้บรรลุข้อตกลงเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ลงนามโดยนายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กับนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ประจำกรุงไทเป นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญ ให้กับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าของทั้งสองฝ่าย ไทยนับเป็นประเทศที่ 5 ถัดจากฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนาม และแคนาดา ที่ลงนามความตกลงด้านการลงทุนกับไต้หวัน นับตั้งแต่ปี 2559


ความตกลงการลงทุนไต้หวัน-ไทย ฉบับเดิม มีผลใช้บังคับเมื่อปี 2539 จนถึงบัดนี้ล่วงมายี่สิบแปดปีแล้ว เนื่องจากกฎเกณฑ์ข้อกำหนดต่าง ๆ ของการลงทุนระหว่างประเทศและลักษณะการลงทุนของทั้งสองฝ่ายนับวันยิ่งมีความหลากหลายมากกว่าเดิมตามยุคสมัย ความตกลงฉบับเดิมจึงไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย ในการลงทุนนอกดินแดนของตน ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงหารือกันในการลงนามความตกลงฉบับใหม่ เพื่ออำนวยการคุ้มครอง และเพิ่มพูนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

สาระสำคัญที่เพิ่มเติมในความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนฉบับใหม่ มีดังนี้


กฎระเบียบและการส่งเสริมการลงทุนที่โปร่งใส เพื่อเป็นการรับรองว่าขั้นตอนการยื่นขอการลงทุน มีความชัดเจนและโปร่งใส หากมีการบัญญัติหรือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ควรมีการประกาศให้สาธารณชนทราบทันที


จัดให้มีเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจทำหน้าที่เป็นช่องทางติดต่อด้านการลงทุน โดยทั้งสองฝ่ายจะระบุเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจ ในการประสานงานและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการลงทุนของผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการลงทุนอย่างทันท่วงที


ในกรณีเกิดข้อพิพาททางการลงทุน รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการการลงทุนร่วม เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการจัดการข้อพิพาท เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กระบวนการจัดการข้อพิพาทที่ต้องใช้เวลายาวนาน อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขข้อพิพาทด้านการลงทุนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น


ผู้ประกอบการไต้หวันได้รับการคุ้มครองการลงทุนทางอ้อมโดยผ่านดินแดนที่สาม ความตกลงฉบับนี้นอกจากจะให้ความคุ้มครองพฤติกรรมการลงทุนแบบดั้งเดิมแล้ว ยังครอบคลุมถึงกรณีที่ ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายลงทุนทางอ้อม โดยผ่านดินแดนที่สามด้วย


รัฐบาลทั้งสองฝ่ายอาจใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถกำหนดนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุข การรักษาสิ่งแวดล้อม สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน การคุ้มครองผู้บริโภค และความมั่นคงทางระบบการเงิน เพื่อสาธารณประโยชน์


จากข้อมูลสถิติการลงทุนของศุลกากรไต้หวันพบว่า นับแต่มีการผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นต้นมา ระหว่างปี 2559-2566 ยอดรวมการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันเพิ่มขึ้นจาก 9,301 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 340,342.19 ล้านบาท) เป็น 16,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 594,254.08 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 74.6% ส่วนยอดเงินการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นจาก 3,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 116,362.56 ล้านบาท) เป็น 6,990 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 255,778.08 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นถึง 119.8% เป็นการบ่งชี้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่สำคัญด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนของไต้หวันในภูมิภาคอาเซียน


ภายใต้แนวโน้มการปรับตัวใหม่ของห่วงโซ่อุปทานของโลก ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่หมายตาของผู้ประกอบการทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนอันดับแรก ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวัน การลงนามความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไต้หวัน-ไทย ในจังหวะนี้ จึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการไต้หวัน ที่มีความปรารถนาจะมาลงทุนในไทย


ยิ่งไปกว่านั้น หลายปีมานี้ รัฐบาลไต้หวันได้จัดให้การกระจายความเสี่ยงการลงทุนและการขจัดอุปสรรคการลงทุนของผู้ประกอบการไต้หวันให้เป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินนโยบาย และหลังจากที่ไต้หวันได้ลงนามความตกลงการลงทุนกับฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนาม แคนาดา และไทย จะช่วยเสริมความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นของการลงทุนในต่างประเทศ ให้กับผู้ประกอบการไต้หวันได้เป็นอย่างดี.

ขอขอบคุณ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES