ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูใบฎีกาสุรพล มหาปญฺโญ เจ้าอาวาส วัดหนองวัลย์เปรียง เจ้าคณะตำบลทุ่งคอก อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับคณะกรรมการวัดหนองวัลย์เปรียง ให้การต้อนรับ คณะทำงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ 5 สมุทรสงคราม สังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องพร้อมด้วยคณะทำงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสองพี่น้อง และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ลงพื้นที่ในการวางแผนเปิดศูนย์แจ้งเตือนภัยตรวจสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร และเครื่องสำอาง เพื่ออบรมให้ความรู้กับ อสม.ชุมชนวัดหนองวัลย์เปรียง ร่วมขับเคลื่อนเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้อาสาสมัครในพื้นที่ร่วมเฝ้าระวัง และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ อาหาร ยา เครื่องสำอาง และสมุนไพร โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมเป็นปากเสียงในชุมชน หากตรวจสอบว่า ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในชุมชนมีสารปนเปื้อนอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ และสร้างเข้มแข็งของคนในชุมชน

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดตัว อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้อาสาสมัครในพื้นที่ร่วมเฝ้าระวัง และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมเป็นปากเสียงในชุมชนหากตรวจสอบว่า ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในชุมชนมีสารปนเปื้อนอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ และสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน เพื่อเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง และสมุนไพร พบว่ายังมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายมีสารปนเปื้อน ส่งผลให้รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษาพยาบาล เพื่อเป็นการดำเนินการเชิงรุกโดยให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถเฝ้าระวัง และตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยได้ด้วยตนเอง กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนา และวิจัยจนได้ชุดทดสอบเบื้องต้น ที่สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่ชุมชนได้ พร้อมทั้งส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งด้านสุขภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ

โครงการ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รพ.สต. และภาคีในสังคม โดยให้มีศูนย์เฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยสุขภาพ ซึ่งจัดตั้งในชุมชน กำกับดูแลโดย รพ.สต. และควบคุมคุณภาพโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์กรแพทย์จะช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะนำองค์ความรู้การใช้ชุดทดสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไปถ่ายทอดในชุมชนให้กับ อสม. ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของชุมชน ที่มีสาเหตุจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอันตราย โดย อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนจะมีความแตกต่างจาก อสม.ทั่วไป คือ เป็นหู เป็นตาให้กับชุมชน โดยจะมีแผนการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเป็นมือเป็นแขนให้กับชุมชน ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพ หากพบว่ามีการปนเปื้อนสารอันตราย สามารถส่งผลให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจยืนยันอีกครั้ง และเมื่อผลการตรวจยืนยันว่ามีสารปนเปื้อน จะแจ้งข้อมูลให้กับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และชุมชนทราบ เพื่อให้ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เป็นปากเสียงให้ชุมชน ในการเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยต่อไป.