เมื่อวันที่ 3 ก.ค. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมภูมิภาคอาเซียนตอนใต้ 6 ประเทศ ภายใต้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 25 ได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศไทย พร้อมด้วยสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต  โดยในที่ประชุมศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASMC) ได้คาดการณ์สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน ในช่วงเดือนก.ค.–ก.ย. 2567 พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนตอนใต้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดนในบางช่วงเวลา เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะเกิดจุดความร้อนและหมอกควันในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟโดยเฉพาะในช่วงสภาวะอากาศแห้งแล้ง

พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือและความทุ่มเทของทุกประเทศที่ได้ให้คำมั่นร่วมกันว่าจะเฝ้าระวังและเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และป้องกันการเกิดไฟ เพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในการร่วมกันดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือและกลไกต่างๆ อาทิ การขยายการปฏิบัติการของ ASMC เพื่อการรายงานพื้นที่เผาไหม้ การใช้งานระบบคาดการณ์ความเสี่ยงการเกิดไฟจากไฟป่าหรือไฟที่เกิดจากการเผาพืช (FDRS) การจัดตั้งเครือข่ายฝึกอบรมด้านการจัดการไฟและหมอกควันในภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง (RHTN) และที่สำคัญคือ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ACC THPC) ซึ่งทุกประเทศเห็นชอบร่วมกันตั้งแต่การประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 18 เมื่อเดือน ส.ค. 2566 โดยประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมลงนามในข้อตกลงการจัดศูนย์ประสานงานดังกล่าว ทั้งหมดนี้จะช่วยจัดการกับต้นตอของปัญหาหมอกควันข้ามแดนได้อย่างครอบคลุม เพื่อนำไปสู่การลดการเกิดหมอกควันข้ามแดนให้เหลือน้อยที่สุด

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวต่อว่า ในช่วงเฝ้าระวัง ระหว่างเดือน ก.ค.–ก.ย. 2567 ทุกประเทศได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาหมอกควันในอาเซียนตอนใต้ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ที่มีตนเป็นประธาน ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ มีการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการจัดการปัญหาการเกิดไฟในพื้นที่ป่าพรุ และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มงวด เพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายจากไฟในพื้นที่พรุและพื้นที่เกษตรจะเกิดขึ้นในประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยมุ่งมั่นในการยกระดับความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและแสวงหาความร่วมมือทุกรูปแบบในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนให้อาเซียนเป็นภูมิภาคปลอดหมอกควัน.