นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทยว่า ผมในฐานะรองประธานที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัดต้องบอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มากๆ ทุกคนบ่นกันหมด ผมดูแลสายงานต่างจังหวัด ต่างจังหวัดเงียบมาก กรุงเทพฯก็เงียบ ถือเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากภายในก็แย่ ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศก็กดดันสูง โดยเฉพาะกับจีน สิ่งสำคัญทาง กกร.ยังแสดงจุดยืนชัดเจน คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ถ้ายังยืนยันจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้เห็นสัญญาณอันตรายยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็ก อาจได้เห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น   

“สงครามการค้า ทำให้สินค้าจีนถูกแอนตี้ มีผลต่อการส่งออกเราประมาณ 20% นี่คือสัญญาณอันตรายภายในก็แย่ ปัจจัยภายนอกก็มากดดัน ยิ่งถ้ามาปรับขึ้นค่าแรงวันที่ 1 ต.ค. เท่ากับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ในรอบปี ไม่มีประเทศใดที่จะปรับขึ้นค่าแรง 3 ครั้งต่อปี เพราะตามกฎหมายให้แค่ 1 ครั้งต่อปี  จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน  ยิ่งตอนนี้โรงงานปิดไปแล้วใกล้ๆ จะพันแห่ง เลิกจ้างไปจำนวนมาก ถ้าเกิดมีเหตุการณ์นี้อีกนับว่าเป็นสัญญาณอันตรายมากๆ ผลสำรวจค่าแรงวันนี้เอกชนเกิน 70% ไม่ต้องการให้มีการปรับ”

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้ความเห็นในฐานะของคณะกรรมการหอการค้าการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นมา ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จะเป็นการซ้ำเติมประเทศมากกว่า เรื่องค่าแรงไม่ควรจะมาปรับขึ้นทั่วประเทศ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเพราะผู้ประกอบการมีการวางแผนงานประจำปีล่วงหน้าไว้ การปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้จะส่งผลกระทบกับแผนงานและต้นทุนของผู้ประกอบการ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ ก็คือ ทำให้เกิดการจ้างงาน และต้องดูว่าค่าแรงของประเทศไทยเท่าไรสามารถสู้และแข่งขันกับต่างประเทศได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คณะอนุกรรมการค่าจ้างแรงงาน (ไตรภาคี) ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว 53 จังหวัด เพื่อแจ้งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและท่าทีของ กกร. ที่ขอไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ขอให้มองถึงศักยภาพของแรงงานพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของการพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรีสกิลแรงงานให้ตอบโจทย์ ซึ่งคาดว่าจะทยอยทำจดหมายจนครบ 77 จังหวัดภายในวันที่ 5 ก.ค. 67

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะ คณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีความกังวลต่อการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบาง อย่างยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ เห็นได้จากยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ส่วนยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ 4 เดือนแรก สำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4%

“หากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นอาจจะกระทบทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ลดลงกว่า 0.3-0.4% ที่คาดไว้ 2.2-2-7%”

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ปรับกรอบการส่งออกปีนี้คาดว่าจะเติบโต 0.8-1.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 0.5-1.5% เนื่องจากอาจมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าและการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทย ทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐต่อจีนจะมีผลภายในปีนี้

นายผยง กล่าวว่า การส่งออกไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐ-จีนรอบใหม่ อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน ซึ่งประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน ที่อาจได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ การค้าโลกไตรมาส 2 ที่ชะลอตัวและมีแนวโน้มชะลอต่อเนื่อง ต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้น จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้นจากเดือน เม.ย. 2567 ถึง 95% และใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี กดดันภาคการผลิตและการส่งออกของโลกในระยะข้างหน้า

ดังนั้น ขอให้ภาครัฐมีมาตรการหรือแนวทางเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงัน ขณะเดียวกันขอให้การพิจารณาทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2567-2580 (PDP2024) และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2567-2580 (AEDP 2024)  คำนึงถึงต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และการปรับให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง