สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ว่า ตามข้อมูลของเอฟเอโอ อาหารที่ผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคของมนุษย์ราว 1 ใน 3 สูญเสียหรือถูกทิ้งทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการปล่อยมลพิษที่ไร้ประโยชน์ และมีอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการในปริมาณน้อยลง

รายงานเตือนว่า ในปี 2566 ปริมาณแคลอรีที่สูญเสียหรือถูกทิ้ง ระหว่างผลผลิตที่ออกจากฟาร์ม ไปยังร้านค้าและครัวเรือน อาจมากกว่า 2 เท่า ของปริมาณแคลอรีที่ถูกบริโภคในประเทศรายได้ต่ำในปัจจุบัน ในช่วงเวลา 1 ปี

“การลดปริมาณอาหารที่สูญเสียหรือถูกทิ้ง ระหว่างทางการฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร ประมาณครึ่งหนึ่ง มีศักยภาพที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตรทั่วโลกได้ 4% และทำให้คนขาดสารอาหารมีจำนวนน้อยลง 153 ล้านคน ภายในปี 2573” รายงานระบุเสริมว่า เป้าหมายข้างต้น มีความทะเยอทะยานอย่างมาก และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งจากฝั่งผู้บริโภคและฝั่งผู้ผลิต

อนึ่ง ประเทศสมาชิกของยูเอ็น ให้คำมั่นว่าจะลดขยะอาหารต่อหัว 50% ภายในปี 2573 ตามส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีเอส) แต่ไม่มีเป้าหมายระดับโลก ในการลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า ระหว่างปี 2564-2566 ผลไม้และผัก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของอาหารที่สูญเสียหรือถูกทิ้ง เนื่องจากมันเน่าเสียง่ายมาก และมีอายุการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น รองลงมาคือธัญพืช ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 25% ของอาหารที่สูญเสียหรือถูกทิ้ง

“มาตรการลดการสูญเสียอาหาร และขยะอาหาร อาจเพิ่มการบริโภคอาหารทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอาหารมีให้เลือกเพิ่มขึ้น และมีราคาถูกลง ทำให้ประชากรที่มีรายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น” รายงานระบุทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP