วันที่ 3 ก.ค. นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 2.4% จากประมาณการครั้งก่อน 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก และในปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ตามงบประมาณปี 68

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเจอความท้าทาย 3 เรื่อง คือ เรื่องแรกการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 67 และปี 68 รวมถึงปีต่อไป ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน จากมาตรการกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และจีน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ได้ส่งผลถึงการค้า และการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7% โดยลดลงจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 1.3% และเป็นระดับต่ำที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีสาเหตุจากราคาอาหารและพลังงานที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้า โดยอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% ได้ในปี 68 ซึ่งมองว่าเป็นความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องดูแลเรื่องเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีปัจจัยกดดันจากโครงการเงินดิจิทัลที่ยังไม่รู้จะเริ่มเมื่อไร ซึ่งโครงการนี้ มีผลกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นประเด็นที่ยากในการดำเนินนโยบายการเงิน

ขณะที่เรื่องที่ 2 ความท้าทายเรื่องภาคการคลัง ต้องยอมรับว่าการลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในช่วงหลังโควิด-19 การลงทุนของไทยติดลบค่อนข้างมาก ส่วนหนี้สาธารณะตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ที่ 64% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากรายจ่ายเพื่อดูแลสังคม แต่ภาพรวมก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 70% ของจีดีพี แต่ยอมรับว่าทิศทางของหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นประเด็นที่น่าห่วงและต้องจับตาดู

ขณะที่เรื่องที่ 3 ความท้าทายเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยมองว่าไทยมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผ่านการเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา สาธารณสุข และเพิ่มศักยภาพแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้คนย้ายเข้าไปสู่งานที่มีมูลค่าเพิ่มและมีรายได้ดีขึ้น และนโยบายการคลังจะต้องตอบโจทย์สังคมสูงอายุ แต่ยังมีพื้นที่ทำการคลังที่เพียงพอจะรักษาเสถียรภาพไม่ให้หนี้สาธารณะสูงเกินไป โดยมุ่งเน้นการทำนโยบายการคลังแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้สูงอายุ หากทำนโยบายที่กว้าง จะส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะของประเทศ

ส่วนการพัฒนาเมืองรอง มองว่าในระยะยาว เมืองรองมีศักยภาพในการเพิ่มผลิตภาพของไทย กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับโลก โดยที่ผ่านมา การพัฒนาเมืองไทยจะมุ่งเน้นที่กรุงเทพฯ ในการเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ