และที่ดีกว่านั้น สถานะทางเศรษฐกิจของไทยก็ดีขึ้นถึง 11 อันดับ เนื่องจากไทยมีความโดดเด่นด้านการค้าระหว่างประเทศ มีทีมเซลส์แมนไทยเดินสายขายโครงการร่วมลงทุน และโปรโมตศักยภาพของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนเป็นข่าวได้ทุกเดือน ยังไม่นับผ้าขาวม้าพันคอที่เป็น Soft Power โดดเด่นในเวทีโลก นอกจากนั้น ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 20 ก็นับว่าเป็นจุดเด่น และประสิทธิภาพของการบริหารภาครัฐอยู่อันดับที่ 24 ก็ถือว่าไม่อายใคร แม้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะตํ่าต้อยอยู่ที่อันดับ 43 ก็ตาม

สำหรับในปีนี้ ประเทศในเอเชียฟื้นตัวกลับไปมีความสามารถมากขึ้น โดย สิงคโปร์ กลับมาครองอันดับ 1 ของโลกได้อีกครั้ง ขณะที่ ไทย ก็ถีบตัวแซงประเทศอื่น ๆ มาอยู่อันดับที่ 25 และที่พัฒนามาแรงมาก ก็คือ อินโดนีเซีย ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 27 ซึ่งไต่ขึ้นมา 7 อันดับ สลับกับ มาเลเซีย ที่หล่นลงไป 7 อันดับ จนตกไปอยู่อันดับที่ 34

ในขณะที่วงการราชการกำลังภาคภูมิใจกับผลงานของรัฐบาลใหม่ ที่เข้ามาทำงานได้เพียงไม่นานก็ปั้นความสามารถในการแข่งขัน IMD ขึ้นไปได้ถึง 5 อันดับ แต่ในวงนักธุรกิจที่นั่งจิบไวน์ดูดซิการ์คุยกัน ผู้นำทางภาคธุรกิจทุกคน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้เหนื่อยมากเป็นพิเศษ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่ดี และการแข่งขันในเวทีโลกที่มีมากขึ้น ไหนจะมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองโลก ที่มีแววสงครามคุกรุ่น กับเส้นทางค้าขายและขนส่งหลายทางที่ถูกระงับ ไม่ก็ต้องเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนเกมกันใหม่หมด แถมในประเทศไทยก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งในมิติต่าง ๆ และเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ทำให้นักธุรกิจต้องเบ่งเค้นความสามารถของตนเองขึ้นไปอีก ซึ่งจะเห็นได้ว่า Score ต่าง ๆ ทั้งเรื่องความสามารถในการค้าระหว่างประเทศ การส่งออก การท่องเที่ยวของเราไต่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วถึง 23 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 6 ที่ทำให้อันดับรวมดีขึ้นมากนั้น มาจากการก้าวกระโดดของภาคธุรกิจไทยทั้งสิ้น และ นักธุรกิจไทยก็ใช้ปัจจัยทางด้านความยั่งยืน ESG Environment Social Governance เป็นมาตรฐานในการเทียบชั้นกับชาวโลก และยังใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG เป็นตัวชี้วัด ซึ่งปีนี้ประเทศไทยยังคงครองอันดับหนึ่งมาเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน นอกจากนักธุรกิจจะเร่งเครื่องทางเศรษฐกิจกันอย่างหนัก ต้องห่วงใยสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และฟื้นฟูธรรมชาติให้คืนความสมดุลแล้ว ยังต้องดูแลสังคมรอบกิจการอย่างทั่วถึง แถมส่งภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วนให้เป็นงบประมาณของหน่วยงานรัฐในการพัฒนาประเทศอีกด้วย ซึ่งพอฟังแล้วดูเหมือนพวกเขาจะต้องแบกนํ้าหนักในเรื่องของอันดับ IMD นี้อยู่มากทีเดียว

ในวงวิชาการ แม้จะเห็นคะแนนรวม IMD ออกมาดีขึ้น แต่วงกาแฟของนักวิชาการต่างเป็นกังวล พอมาดูคะแนนไส้ในรายละเอียดของแต่ละหมวด ก็เห็นจริงคล้อยตามที่กลุ่มนักธุรกิจที่บ่นกันว่า เหนื่อยและเร่งเครื่องจนแทบพังแล้ว ทำไมจึงคิดเช่นนั้น ซึ่งถ้าเรา scan คะแนนในหมวดปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ เรายังอยู่ตํ่าคงที่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาพื้นฐานที่ยังมีมาตรฐานเช่นเดิม แม้ปีนี้กระทรวงศึกษาฯจะเพิ่มข้อมูลการลงทุนในการศึกษาของเอกชนเข้าไป แต่การทำงานก็ยังเป็นเช่นเดิมและถึงแม้จะมีคะแนนเพิ่มขึ้น คะแนนทางวิชาคณิตศาสตร์ และคำนวณก็ยังถือว่าตํ่า หรือเรามีองค์กรที่ส่งเสริม STEM อยู่มาก แต่ไม่ค่อยทำงานด้วยกัน ทำให้ต่อยอดกับการศึกษากระแสหลักไม่ติด ไม่ Inclusive ผลออกมาจึงเป็น STEM บ้าง STEAM บ้าง เป็น ๆ หาย ๆ มั่ว ๆ กันไป และที่ตํ่ากว่ามาตรฐานมาก คือ ความรู้และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ตกจากอันดับที่ 47 มาอยู่อันดับที่ 54

ถ้าเรายังไม่แก้ไข ถ้ายังไม่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในไม่ช้าเมื่อบุคลากรรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มาตรฐานโลกเข้าสู่การทำงาน อันดับการแข่งขันของเราก็จะร่วงหล่นอย่างรวดเร็ว จนกู่ไม่กลับ อีกปัจจัยสำคัญที่จะเติมความสามารถทางการแข่งขัน คือการผลิตคนสาขาการจัดการที่ลํ้าสมัย เพราะอันดับของเราลดลงมาจากเดิมอันดับที่ 19 มาอยู่ที่อันดับ 32 บอกได้เลยว่าวิทยาลัยการจัดการต่าง ๆ ที่เรามีกำลังอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากยังไม่ตอบโจทย์ธุรกิจที่ผันผวนคาดการณ์ไม่ได้ บริษัทต่าง ๆ ต้องแข่งขันในเวทีโลกอย่างดุเดือด

ด้วยกฎกติกาของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คงจะต้องรีบปลุกคณะบริหารของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ตื่นจากการสอนแบบเดิม ๆ ที่เคยสร้างความสำเร็จในศตวรรษที่ 20 แต่ยังตามไม่ทันสนามจริงในศตวรรษที่ 21 นี้ นอกจากการพัฒนาคนแล้ว ข้อมูลบ่งชี้ว่าเรายังถดถอยเรื่องการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะการทำวิจัยและพัฒนา R&D ของเราร่วงจากอันดับ 34 มาอยู่ที่ 37 โดยมีงบวิจัยเพียง 1.16% หรือลดลงจากเดิมที่เคยมี 1.21% ของ GDP

ทั้งนี้ “ความสมดุล พอเพียง ยั่งยืน” ยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญในอันดับการแข่งขันที่ดีขึ้นในปีนี้ เพราะเราจะยังคงเป็นที่ 1 ในอาเซียนเรื่อง SDG (อันดับโลก 45) อันดับ 2 เวียดนาม (อันดับโลก 54) อันดับ 3 สิงคโปร์ (อันดับโลก 65) ตามมาด้วยอันดับ 4, 5, 6 อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ (อันดับโลก 78, 79, 92) ถึงแม้อันดับโลกของเราร่วงมา 2 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 45 แต่คะแนนรวมของเรายังคงเท่าเดิม คือ 74.7 คะแนน แปลว่ามีประเทศอื่นที่เริ่มจะแซงเราไปแล้ว ทำให้ไทยจะอยู่นิ่งไม่ได้ โดยเราต้องตั้งเป้าไล่ตามเกาหลี อันดับ 2 ของเอเชีย (อันดับโลก 33) เมื่อไรทำได้เราจะท้าทายอันดับ 1 อย่างญี่ปุ่น (อันดับโลก 18) ต่อไป และ 5 เป้าหมายที่ยังคงเป็นตัวแดง เราก็คงต้องรีบร่วมกันทำงานอย่างเร่งด่วน ได้แก่ SDG 2 ขจัดความหิวโหย SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล SDG 15 ระบบนิเวศบนบก และ SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง ข้อสุดท้ายนี้เราน่าจะอ่อนที่สุด

หลังจากพวกเราฟังข่าวดีทั้ง 2 ข่าว ทั้งอันดับของ IMD และ SDG แล้วฉลองกันอย่างครื้นเครงแล้ว เราต้องรีบกลับมาจัด “ทีมประเทศไทย” เพื่อซ่อมแซมฐานรากของเราอย่างเร่งด่วน นะครับ ก่อนที่วันหนึ่งจะพังครืนลงมา.