ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 08.00 น. นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ออกให้บริการประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้เลือดออกและพ่นสารเคมีกำจัดยุงออกพ่นหมอกควันกำจัดเร่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้ง 30 ชุมชน โดยมีการพ่นสารเคมีออกเป็น 2 รอบ รอบแรกวันที่ 14 มิถุนายน-13 กรกฎาคม 67 รอบที่ 2 วันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 27 สิงหาคม 67 โดยมีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบให้เตรียมตัวก่อนพ่นยาสารเคมี ให้เก็บสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน เคลื่อนย้ายเด็ก ผู้ป่วย สัตว์เลี้ยงออกห่างจากตัวอาคาร เปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้ละอองน้ำยาเข้าไปกำจัดยุงลายภายในบ้าน ในช่วงเวลา 06.00-07.30 น. โดยมีการวางมาตรการการรับมือระบาดไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝน โดยมียุงซึ่งเป็นพาหะ ขอให้ใช้มาตรการ 3 เก็บ 3 โรค  คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เก็บขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เก็บน้ำให้มิดชิด หรือเปลี่ยนน้ำทุก 7 วันอย่างสม่ำเสมอ 

ที่สำนักงานาสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์พิทักษ์พงศ์ พายุหะ สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ระยะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน มีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการวางไข่ของยุงลาย ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด จากรายงานระบาดวิทยาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 8 ราย มียอดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึงปัจจุบัน จำนวน 256 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 27.28 ต่อประชากรแสนคน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต 

กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี  รองลงมาคือ 5-9 ปี  และ 0-4 ปีตามลำดับ  อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือ  อำเภอกุดรัง 67.64 ต่อแสนประชากร  อำเภอโกสุมพิสัย 54.96 ต่อแสนประชากร  และอำเภอนาเชือก  54.30 ต่อแสนประชากร

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ได้มีการเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้ง 13 อำเภอ ได้รู้เท่าทันโรคไข้เลือดออก โดยมีการวางมาตรการการรับมือระบาดไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝน 1.สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายให้มีค่า HI CI น้อยกว่าร้อยละ 5 2.ตอบโต้และควบคุมพาหะ อปท. ควบคุมได้ตามมาตราการ 3-3-1 และคุณภาพมาตรฐานวิชาการ 3.วินิจฉัยและรักษาโรงพยายาบลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตรวจผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายด้วย NS 1 และ 4.สื่อสารความเสี่ยง ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยา NSAIDs พัฒนา อสม. อสต. ให้มีศักยภาพในการสื่อสารความเสี่ยง และสร้างความรู้ปรับพฤติกรรมแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมาย 100,000 คน โดยมีมาตรการเสิรมกับผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ