ก็เห็นแก่การเฉลิมฉลองเรื่องสมรสเท่าเทียม แต่ได้ข่าวว่าเบื้องหลังนี่ “พวกที่ร่วมจัด”บางเจ้าก็ใช่ย่อยอยู่ คืออาศัยแบบว่าหาสปอนเซอร์ฉ่ำๆ ไปสกัดเจ้าอื่นจะขอสปอนเซอร์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะตีกันให้เห็นวันไหน แต่ถ้าจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเวิลด์ไพรด์อย่างที่หวังในปี ค.ศ.2030 เขาประเมินจากความสามัคคีของภาคประชาชนในประเทศด้วย

แล้วก็อย่างว่า เพราะเดินกันมากไป กระแสหมั่นไส้ก็มา แล้วการตอบโต้บางทีก็..อารมณ์กะเทย..คือ บ้างก็มีการเอาคนที่ว่าไปแขวนด่าในอินเทอร์เนต  พร้อมให้คนเข้ามาแสดงความเห็นว่าคนวิจารณ์นั่นเป็นพวกไม่เข้าใจความหลากหลาย , เป็นพวกชอบกลั่นแกล้งรังแก ( bully ) แต่ในชีวิตจริงก็เห็น LGBT+ นี่แหละบูลลี่กันเองฉ่ำ

คนที่เขารำคาญบางคนบอกเข้าใจแล้วว่าwokeหรือเรียกร้องเกินพอดีนี่เป็นอย่างไร เรื่องนี้มันก็แล้วแต่สองคนยลตามช่อง บางคนก็บอกว่า “กฎหมายต้องมีไว้สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้” แต่บางคนก็บอกว่า “กฎหมายบางอย่างไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นแถมเปิดช่องให้ละเมิดคนอื่นอีก” ซึ่งกฎหมายตัวที่ว่านั้นคือ พ.ร.บ.รับรองเพศ

พ.ร.บ.รับรองเพศ หรือ พ.ร.บ.คำนำหน้านาม เป็นกฎหมายให้กลุ่มข้ามเพศสามารถใช้สิทธิตามเพศใหม่ได้ เช่น ข้ามเพศเป็นหญิงแล้วก็ใช้สิทธิแบบผู้หญิง ข้ามเพศเป็นชายก็ใช้สิทธิแบบผู้ชาย ข้อถกเถียงมันเยอะ โดยเฉพาะประเด็นว่า “ต้องแปลงเพศก่อนหรือไม่ ?” บ้างก็ว่าไม่ต้องแปลงเพศ เพราะเป็นการละเมิด บ้างก็ว่าต้องแปลง เพื่อไม่ให้กลับไปกลับมา

แล้วยังมีกลุ่มเพศที่เรียกตัวเองว่า non-binary คือไม่ขอนิยามตัวเองอยู่ในกรอบเพศไหนอีก พวกนี้จะประกาศตัวตนโดยการไม่ยึดคำนำหน้านามที่ระบุเพศ ..ซึ่งสังคมไทยคนจำนวนมาก ชินกับการมีคำนำหน้านามมาตั้งแต่เกิด พอเห็นการเรียกร้องอะไรประเภทนี้ก็รู้สึกน่ารำคาญ แบบสมรสเท่าเทียมผ่านก็จะเอาต่อเหมือนพวกได้คืบจะเอาศอก

ตรงนี้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมเรื่องเพศต้องหันมาทบทวนก่อน ว่า “คุณได้ทำความเข้าใจกับสังคมไทยเรื่องการข้ามเพศดีพอหรือยัง ? มันไม่เหมือนสมรสเท่าเทียมที่คนเห็นถึงความจำเป็นมันมีมาก เพราะรณรงค์มาอย่างยาวนาน แต่การให้เปลี่ยนคำนำหน้านามตามเพศที่อยากเป็นนี่ ..ดูกระแสโซเชี่ยลฯ คนไม่เห็นด้วยก็เยอะ ระวังกระแสตีกลับ

อย่างไรก็ตาม เห็นภาพนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ โอบกอดผู้ที่มีอัตลักษณ์เปราะบาง ทำให้คิดถึงว่า “งานไพรด์ ควรจะต้องเป็นงานที่เป็นการพบกันของสามฝ่าย คือรัฐ เอกชน ภาคประชาชน” โดยเฉพาะไม่นับแค่กลุ่ม LGBT+ แต่รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่น เช่น ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงาน กลุ่มด้อยการศึกษา เพื่อให้เขาสื่อสารปัญหาเขาบ้าง

กระทั่งกลุ่มเปราะบางที่ไม่เปิดเผยตัว อย่างผู้พ้นโทษ, ผู้ใช้สารเสพติด, ผู้ค้าบริการ ก็ต้องมีตัวแทนปากเสียงของเขาบอกเล่าปัญหาเพื่อภาครัฐและภาคเอกชนจะได้ยินผ่านขบวนที่ดูเหมือนบันเทิง ให้สมกับการเป็นไพรด์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะต้องคุยกันเรื่องการออก พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่ออัตลักษณ์เปราะบางให้มากขึ้น

พ.ร.บ.นี้จะช่วยคุ้มครองอัตลักษณ์อื่น ขณะที่ความไม่เท่าเทียมทางเพศ มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ช่วยแล้ว แต่ก็ไม่ทราบว่า ที่สุดแล้วการสื่อสารปัญหาของอัตลักษณ์เปราะบางอื่นจะ“ได้แสง”แค่ไหน แต่ถ้าจะโยนให้เป็นเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม.) ก็ดูเป็นองค์กรเสือกระดาษที่ทำอะไรไม่ค่อยได้

ย้ำว่า เพื่อพัฒนาความเป็นไพรด์ ต้องไม่ทิ้งกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ไว้ด้านหลัง.