นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานเบื้องต้นว่าอยู่ระหว่างเตรียมเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 341,351.42 ล้านบาท มายังกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน ก.ย. 67 และดำเนินการเปิดประกวดราคาภายในปี 67

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงการฯ ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. แล้ว ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณา ทั้งนี้การประมูลงานก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟไฮสปีดฯ แบ่งเป็นประมาณ 8-10 สัญญา ใช้เงินกู้ในการดำเนินการ โดยได้กำชับให้ รฟท. นำปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากการดำเนินโครงการรถไฟไฮสปีดฯ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มาเป็นบทเรียน เพื่อให้งานเฟสที่ 2 เดินหน้าได้ตามแผนงาน สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการฯ เฟสที่ 1 ระยะทางประมาณ 253 กม. ได้กำชับให้ รฟท. เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 71 โดยขณะนี้ภาพรวมความคืบหน้าโครงการฯ ณ เดือน พ.ค. 67 อยู่ที่ 33.48% เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 60 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. อยู่ระหว่างรอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน โดยช่วงนี้จะก่อสร้างรองรับความเร็วสูงสุดที่ 160 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) จากเดิม 250 กม.ต่อ ชม. คาดว่าสัญญานี้น่าจะจบได้ภายในปี 67

และสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.) ยังติดปัญหาเรื่องสถานีอยุธยา ซึ่งทราบว่าขณะนี้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA)  ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไปยังองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อขอความคิดเห็นแล้ว คาดว่าจะตอบกลับมาประมาณเดือน ส.ค. 67

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า มองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะสถานีรถไฟไฮสปีดอยุธยาอยู่บนเส้นทางรถไฟ และสถานีรถไฟเดิม และที่ผ่านมาก็เปิดให้บริการได้โดยไม่ได้กระทบกับมรดกโลก ดังนั้นจึงคิดว่าสถานีอยุธยายังต้องมีอยู่ ไม่ควรตัดออกไป ส่วนการลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ผู้รับจ้างสัญญาที่ 4-5 ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญา เอกชนยังคงยืนราคาเดิม 10,325 ล้านบาท ซึ่งมีการเจรจายืนราคากันแบบเดือนต่อเดือน คาดว่าจะสามารถลงนามกับเอกชนได้ภายในปี 67.