เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คนนั้น ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของ สว. นอกจากการกลั่นกรองพิจารณากฎหมาย และการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแล้ว อีกภารกิจสำคัญคือการให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐ และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2567 นี้มีกรรมการในหลายองค์กรที่จะครบวาระ

โดย คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จะมีผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง 1 คน ในเดือน เม.ย. 67 ที่ผ่านมา คือ น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 เม.ย. 2567 เหตุอายุครบ 70 ปี และในวันที่ 22 ก.ย.นี้จะมี พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน และ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน ได้แก่ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, นายสรรเสริญ พลเจียก และนางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี

นอกจากนี้ยังมี ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ที่ลาออกจากตำแหน่ง 1 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567  นายอิสสรีย์  หรรษาจรูญโรจน์

ส่วน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยในวันที่ 9 ก.ย.นี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่งเหตุอายุครบ 70 ปี ตามที่กฎหมายกำหนดและยังมีอีก 2 คน ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค. 67  คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ

ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จะมี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน เหตุครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 16 พ.ย. 67 กับ นายปัญญา อุดชาชน  ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พ.ย. 67