การแก้ปัญหาของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือหัวใจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ภายใต้การนำของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.


ดังนั้นก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 2 ก.ค.2567 น.ส.ศุภมาส จึงนำคณะผู้บริหารกระทรวง อว.ทั้ง พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.เป็นต้น นำผลสำเร็จจากงานวิจัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ของทุกหน่วยงานในสังกัด อว.ลงไปให้บริการประชาชน รวมทั้งนำหน่วยแพทย์ อว.เคลื่อนที่ให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนด้วย


โดยจุดแรกวันที่ 30 มิ.ย. น.ส.ศุภมาส ลงพื้นที่วัดบางอำพันธ์ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ มีนายอนันต์ นาคนิยม ผวจ.ชัยภูมิ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ เขต 3 น.ส.สุรีวรรณ นาคาศัย คณะที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ผู้นำชุมชน ผู้นำเกษตรกรและประชาชนให้การต้อนรับและเข้าร่วมรับฟังนโยบายการนำงานวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาแก้จน
ไฮไลท์สำคัญคือการประกาศนโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” ของ น.ส.ศุภมาส ซึ่งเป็นการนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมารับใช้พี่น้องเกษตรกร เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ที่ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของเกษตรกร ที่สำคัญโดรนยังช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและได้งานมากกว่าแรงคน 40 เท่า


“รูปแบบของโดรนแก้จนเพื่อการเกษตร จะใช้โดรนที่มีอยู่แล้วจากหน่วยงานใน อว.หรือเครือข่ายผู้ประกอบการจากหน่วยงานที่ให้ทุนของ อว.มาช่วยเกษตรกร โดย อว.อาจช่วยค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายในการใช้โดรนสำหรับพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรแต่ละคนหรืออาจเรียกได้ว่านโยบาย “โดรนคนละครึ่ง” เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ”ปุ๋ยคนละครึ่ง“ ของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันได้มอบให้ผู้บริหาร อว.ไปศึกษาระเบียบและวิธีการช่วยเหลือให้ถูกต้องและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร” น.ส.ศุภมาส กล่าว
นอกจากนี้ จะนำเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ เกษตรแม่นยำ เป็นต้น มาสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรให้กับเกษตรกรด้วย

ต่อมา น.ส.ศุภมาส เป็นประธาน Kick off “อว. for Economic Corridors” เพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทยทั้ง 4 ภาค โดยมุ่งพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม กระตุ้น GPP ของจังหวัดให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ก่อให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ ด้านที่ 2 การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้นวัตกรรมผ่านกลไกมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวิจัย พัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคประชาชน และด้านที่ 3 พัฒนากำลังคนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจให้มีความรู้และทักษะขั้นสูง โดยตั้งเป้าผลิตผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและผู้ประกอบการท้องถิ่น 2,000 รายและนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในพื้นที่ 3,000 คนให้ได้ภายในปี 2570


ถัดมาวันที่ 1 ก.ค. น.ส.ศุภมาส ลงพื้นที่โรงเรียนจักราชวิทยา อ.จักราช จ.นครราชสีมา โดยมีการจัดอบรมส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนเนื้อโคไทยเข้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมและตลาดสากล ขณะเดียวกันองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. มาจัดแสดงให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วย

จากนั้น น.ส.ศุภมาส ได้นำทีมผู้บริหาร อว.ติดตามการดำเนินงาน “โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์“ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (โครงการ วมว.) ซึ่ง อว.สามารถพัฒนาศักยภาพนักเรียนกลุ่มนี้ให้มีทักษะที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและผลักดันกำลังคนกลุ่มนี้กระจายไปยังอุตสาหกรรมที่รัฐบาลส่งเสริม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมตามนโยบาย Ignite Thailand เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า AI การแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่ง อว.กำลังขับเคลื่อน เช่น “อว for EV”
ต่อมา น.ส.ศุภมาส ยังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ จ.นครราชสีมา ในการผลักดันเมืองโคราชสู่การเป็นเมืองอุทยานธรณีระดับโลก (Global Geopark) เป็นการปิดท้ายภารกิจก่อนการประชุม ครม.สัญจร จ.นคราราชสีมา.