กรณี “ปลาหมอคางดำ” หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แพร่ระบาดไปหลายจังหวัด ล่าสุดพบในพื้นที่ภาคใต้ กำลังสร้างผลกระทบกับระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรใน จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ มานานนับสิบปีแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ เสนอให้รัฐบาลยกเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล็อกพิกัด 184 ไร่ลุยกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ ยันไม่โปรย ‘กากชา’ หวั่นกระทบสัตว์น้ำอื่น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมง จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางภาครัฐได้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมทั้งภาครัฐ ชาวบ้าน เกษตรกร ชาวประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประชุมหารือระดับจังหวัดทุกจังหวัด เบื้องต้นได้ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการร่วมกับชาวบ้าน “ลงแขกในคลอง” และอาจจะมีการนําเสนอเครื่องมือที่จะมากําจัดปลาหมอคางดำเพิ่มเติม รวมทั้งนำเสนอแผนการรับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ให้คณะทำงานชุดใหญ่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณา

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงและประมง จ.สมุทรสงคราม ก่อนหน้านี้ได้จัดกิจกรรม “ลงแขก” ในคลองครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 ที่คลองสัมมะงา คลองสาธารณะ หมู่ 5 ต.แพรกหนามแดง โดยร่วมกับชาวบ้านลากอวน หว่านแห จับปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศคืนความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ปลาหมอคางดำ ประมาณ 31 กก. จากนั้นก็ทำต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน รวม 10 ครั้ง จับปลาหมอคางดำ ได้รวม 704.8 กิโลกรัม นำไปใช้ประโยชน์ทำปุ๋ยหมักและบางส่วนนำไปแปรรูป นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจับปลาหมอคางดำเพื่อการบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างสรรค์เมนูอาหารรูปแบบใหม่ๆ เช่น ปลาแดดเดียวออกขาย เป็นรายได้เพิ่มให้กับชุมชนเพื่อจูงใจให้มีการจับปลาหมอคางดำให้มากขึ้นควบคู่ไปกับกิจกรรมลงแขก นอกจากนี้ยังปล่อยสัตว์น้ำผู้ล่าหรือปลากะพงต่อเนื่อง

สำหรับ ปลาหมอคางดำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ประเทศมอริทาเนีย ถึงประเทศแคเมอรูน ส่วนประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เริ่มมีการรายงานช่วงปี พ.ศ. 2560-2561 และพบการแพร่ระบาดในพื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเลแบบกึ่งพัฒนาในเขต จ.สมุทรสงคราม จากนั้นช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 พบมีการแพร่กระจายเป็นวงกว้างที่เพชรบุรี, สมุทรสาคร, ระยอง, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และจากการรวบรวมข้อมูลในปี พ.ศ. 2566 พบมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีก ประกอบด้วย จ.จันทบุรี, กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ราชบุรี, นครศรีธรรมราช และสงขลา เนื่องจากปลาหมอคางดำมีความสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมประเทศไทยได้ดี ทนความเค็มได้มากกว่า 30 ส่วนในพันส่วน และอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้ จึงทำให้มีการแพร่กระจายและขยายประชากรได้ทั้งในระบบนิเวศน้ำกร่อย น้ำเค็ม และน้ำจืดบางส่วนที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล มีการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วตั้งแต่อายุเพียง 3-4 เดือน จึงทำให้ปลาหมอคางดำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่

จากข้อมูลชีววิทยาของปลาหมอคางดำ พบว่าตัวผู้เป็นผู้อมไข่เลี้ยงลูก ส่วนตัวเมียไม่อมไข่จึงออกลูกได้เรื่อยๆ เพราะไม่ต้องเลี้ยงลูก พฤติกรรมนี้ทำให้ปลาสืบพันธุ์วางไข่ได้รวดเร็ว ประกอบกับรูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรเป็นวิธีเลี้ยงสัตว์น้ำแบบกึ่งธรรมชาติ โดยใช้วิธีนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่บ่อเลี้ยงและไม่มีการกรองน้ำเข้าบ่อเพราะต้องการลูกพันธุ์สัตว์น้ำจำพวกลูกหอย ลูกปู และลูกปลาจากธรรมชาติเข้ามาสู่บ่อเลี้ยง แล้วซื้อลูกพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยเสริมเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำที่เลี้ยงจึงเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำที่ดีในบ่อเลี้ยง ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อเกษตรกรสูบน้ำจากภายนอกเข้ามาสู่ระบบการเลี้ยงในบ่อจะมีปลาหมอคางดำหลุดรอดเข้าไปแย่งกินอาหาร รวมถึงกินลูกพันธุ์กุ้งทะเลที่เกษตรกรซื้อมาปล่อยเสริมทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลที่ต้องการลดน้อยลง อีกทั้งปลาหมอคางดำ จึงไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและต้องการกำจัดออกจากระบบการเลี้ยง