เมื่อวันที่ 2 ก.ค. เวลา 09.00 น. มีกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช หลายอำเภอใน จ.นครราชสีมา อ.โนนสูง โนนไทย ด่านขุนทด ที่อยู่ระหว่างการสำรวจแร่และขอสัมปทาน มาชุมนุมที่ประตูหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ก่อนเริ่มการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่หรือ ครม.สัญจร 

แกนนำกลุ่มดังกล่าวได้มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือด โดยระบุว่ารัฐบาลตระบัดสัตย์ จากที่บอกว่าจะมีการอนุมัติการชดเชยการนำเข้าแร่โปแตช 800,000 ตัน แต่ปรากฏว่านำเข้ากว่า 3 ล้านตัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่รัฐบาลที่กินเงินภาษีของประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน และหากไม่มีใครมารับหนังสือ ตัวแทนประชาชนจะเผาหนังสือที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ที่หน้าประตูมหาวิทยาลัย ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ขณะที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีบางส่วนเปลี่ยนทางเข้าหอประชุมไปใช้เส้นทางอื่นเข้าสู่อาคารหอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์

กระทั่ง เวลา 09.54 น. น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ได้เดินมารับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มดังกล่าว ซึ่งตัวแทนผู้ชุมนุมได้อ่านข้อเรียกร้องที่เสนอถึงนายกรัฐมนตรีและกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ ดังนี้ 1.ขอให้นายกฯ มีคำสั่งให้ยกเลิกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแร่โปแตชทั้งหมด เนื่องจากแผนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยไม่มีการสำรวจและการเคลื่อนที่ เพื่อการทำเหมืองให้ชัดเจน และเปิดโอกาสให้มีการสำรวจแร่เมืองโปแตชในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตแหล่งแร่สำหรับการทำเหมือง

2.ขอให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือเอสอีเอ 3.ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่โปแตชใน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา แต่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีศักยภาพในการกำกับดูแลและควบคุมให้เกิดการทำเหมืองที่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหากยังไม่มีการตรวจสอบเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่มีการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาดังเดิม  ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อพื้นที่เหมือนแบบในพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย อีกทั้งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีความสนใจต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริงและต้องการเพียงตัวเลข GDP แต่ไม่ให้ความสำคัญ เรื่อง ชีวิตของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่เสี่ยงดินเค็มอยู่แล้ว การทำเมืองดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ภาคอีสาน เกิดเป็นดินเค็มมากขึ้น จึงขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

หลังจาก รมว.อุตสาหกรรม รับหนังสือแล้ว ผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวได้แยกย้ายเดินทางกลับ