จากข้อมูลหนี้สินครัวเรือนไทยปี 2566 สูงถึง 16.2 ล้านบาท และใช้เงิน 21.5% ของรายได้ไปกับการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีหนี้สินจากการพนันที่พบว่ามีผู้ติดหนี้พนันถึง 1.6 ล้านคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนคน จากปี 2564 คิดเป็นมูลค่าหนี้สินรวมมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,335 บาท/คน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่รับฟังสรุปการดำเนินงาน “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดเพชรบุรี โมเดลการแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี จากการที่พูดคุยและการดำเนินการพื้นที่ของ สสส. ซึ่งดูในเรื่องสุขภาพโดยทั่วไป และได้เพิ่มเติมในเรื่องการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ซึ่งการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แนวทางสอดคล้องกับเรื่องของการลดเหล้า เลิก เหล้า ลดบุหรี่ รวมถึงยาเสพติด และการเล่นหวย ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่จากการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พบว่าจังหวัดนี้มีการเล่นหวยน้อย เทียบดูกับจังหวัดอื่นๆในภาค ในการดำเนินการครั้งนี้ได้ให้นโยบาย ประเด็นด้านสุขภาพ เรื่องการดูแลสุขภาพ เพิ่มเรื่องความยากจน การให้ความรู้ ทำบัญชีครัวเรือน หรือให้ความรู้และแนวทางต่างๆ แนะนำการประกอบอาชีพ อาชีพเสริม โดย สสส.ได้รับแนวนโยบาย และนำไปขยายผล โดยมีเป้าหมายดำเนินการ 626 จุดบริการจากตำบลต่างๆของประเทศไทยที่มีทั้งหมด 878 อำเภอ สำหรับโครงการ ลดรายจ่ายเป็นการเรียนรู้ ทำความเข้าใจในการลดบุหรี่ เลิกบุหรี่ ลดเล่นหวย หรือเลิกเล่นหวยไปเลย เพราะตัวอย่างการลดบุหรี่ เลิกบุหรี่ ถ้าสูบบุหรี่หนึ่งซอง หนึ่งปี คิดเป็นเงิน คือ 36,500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถ ซื้อข้าวสารกระสอบละ 50 กิโลกรัมได้ 20 กระสอบ ซึ่งข้าวสาร 20 กระสอบ ครอบครัวขนาด 5-6 คน สามารถกินได้ประมาณ 2 ปี ดังนั้นแค่เลิกบุหรี่ก็ทำให้มีเงินเหลือ มีเงินเก็บแล้ว

หลายครอบครัวที่มีหนี้สินสูงกว่ารายได้ การแก้ไขปัญหาหนี้ต้องพัฒนากลไกให้เกิดเป็นระบบ ลดรายจ่ายจากปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนสุขภาพ และทำแผนเศรษฐกิจชุมชน เช่น สร้างอาชีพ เชื่อมโยงองค์กร/สถาบันการเงิน ส่งเสริมการผลิต และใช้เอง รวมถึงแผนปลดหนี้ พัฒนาอาชีพเสริมรายได้ พัฒนาผู้ประกอบการอินทรีย์ตลาดสีเขียว ให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร โดยเชื่อมั่นว่าเป้าหมายขยายโมเดลการทำงานของ สสส. สามารถไปสู่การสร้างชุมชนปลอดความยากจน ที่จะนำร่องระดับตำบล/ ชุมชน ไม่น้อยกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตนเอง ชุมชน สังคม นอกจากเกิดผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจระดับประเทศด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า มาตรการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุน สสส. มีมติให้ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) พัฒนาแนวทางจัดการหนี้ครัวเรือน โดยตั้งต้นจากการลดค่าใช้จ่ายบั่นทอนสุขภาพ โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ การพนัน เพื่อแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ขับเคลื่อนงานระดับตำบล/ชุมชน 626 พื้นที่ โครงการ “คนหัวใจเพชร” ลดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา นำไปสู่การงดเหล้าตลอดชีวิต เฉพาะปี 2565 มีผู้เข้าร่วม 151,948 คน สามารถประหยัดเงินได้ถึง 121,784,378 บาท ลดการพนัน เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมในโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 150 โรงเรียน นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดรายจ่าย สสส. และภาคีเครือข่ายได้สานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง พัฒนาแผนเศรษฐกิจชุมชน และแผนปลดหนี้ครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยสวนผักชุมชน ลดรายจ่าย สามารถนำไปจำหน่าย สร้างรายได้ ให้ครอบครัว และชุมชน

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เล่าถึง หลักสูตรลอตเตอรี่ศึกษากลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุกับกลุ่มครอบครัว เพราะว่าเป็นกลุ่มที่มีเปอร์เซ็นต์การเล่นหวยค่อนข้างจะมาก อุบายสำคัญคือ ทำให้เข้าใจเรื่องของโอกาสในการถูกหวย โดยเริ่มต้นจากการชวนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ทุกคนเคยซื้อหวย อันนี้เป็นการพิสูจน์ เป็นการสร้างประสบการณ์ตรง ให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นว่า โอกาสถูกหวยมีน้อยมาก จากหลักสูตรลอตเตอรี่ศึกษา นำมาสู่การตั้งปณิธาน เช่น ช่วงเข้าพรรษา เราจะเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม ต่อมาให้สร้างพี่เลี้ยงทางการเงินผู้ติดตามผล ให้กำลังใจ เพื่อให้ความรู้ เพราะหวยสร้างหนี้ จากตั้งต้นซื้อหวย เพื่อลดหนี้ กลายเป็นยิ่งซื้อยิ่งสร้างหนี้ พี่เลี้ยงการเงินต้องให้ความรู้ เรื่องการปิดหนี้ แก้หนี้ นอกจากนี้ต้องรู้เท่าทันการใช้จ่ายเกินความจำเป็น ชอปปิงออนไลน์ ด้วยการจดบัญชีความสำเร็จ คือ ตัวเลขรายรับต้องมากกว่ารายจ่าย

นายไพโรจน์ จันทร์เพ็ญ คนหัวใจเพชร จังหวัดเพชรบุรี บอกว่า ดื่มเหล้ามากว่า 20ปี ดื่มตลอดทั้งวัน ทุกวัน ร่างกายทรุดโทรม เงินไม่ค่อยพอใช้ ในที่สุด จึงตัดสินใจหักดิบ เลิกดื่มเหล้า จนถึงวันนี้ 10 ปีแล้ว อยู่จนทุกวันนี้ หลังจากเลิกดื่มเหล้า ก็เงินก็มีเก็บ มีเงินออม ได้สังคมใหม่

แนวคิดพัฒนาจัดการหนี้ครัวเรือนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย พุ่งเป้าไปที่การสร้างความตระหนักและเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อนำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ การพนันปัญหาสำคัญของการเกิดหนี้สิน เพราะจากการทำงานที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถลดรายจ่ายจากปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น งดเหล้าในงานบุญ งานศพ และงดเหล้าตลอดทั้งปี สามารถลดรายจ่ายการจัดงานจาก 63,000 บาท หลังเข้าร่วมโครงการ เหลือ 13,500 บาท เหลือเงินออมได้ถึง 49,500 บาท นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกองทุนเจ้าภาพ และสวัสดิการ สนับสนุนเจ้าภาพงานเลี้ยงปลอดเหล้าจากกองทุนชุมชน เจ้าภาพละ 1,000 บาท และสนับสนุนทุนตั้งต้นเพื่อพัฒนาอาชีพ ให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมงดเหล้า กองทุนละ 4,000 – 5,000 บาท