เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนัก

โดยวันเดียวกันนี้ ที่ สำนักงานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง ถนนเลียบชายทะเล ต.ท่าพยา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายสำรอง อินเอก หัวหน้ากลุ่มบริการจัดการประมง รักษาการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช นางชอุ่ม สุขช่วย หัวหน้าฝ่ายหัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช นายบุญเยียน รัตนวิชา ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มปากพนัง นายประทีป น้ำขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ขนาบนาก นายณัฐพงศ์ นาคคำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ต.ขนาบนาก นายประทีป น้ำขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.ขนาบนาก นายอรรพล ปฐมสุวรรณกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.ขนาบนาก นายนายปัญญพงษ์ สงพะโยม หัวหน้าฝ่ายขยายผล ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ตัวแทนประมงอำเภอปากพนัง ตัวแทนชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี เข้าร่วมประชุมหารือถึงการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ได้สนับสนุนเงินประมาณในการดำเนินการไล่ล่าจับปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 ก.ค. นี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถอนุมัติงบประมาณของทางราชการลงมาสนับสนุนได้ ซึ่งทางประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เสนอของบประมาณ 2.9 ล้าน ไปยังกรมประมง ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะได้รับการพิจารณาหรือไม่และเมื่อไหร่ และข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหาการแร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติ หรือให้จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนงบประมาณลงมาสนับได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยทางประมงจังหวัดจะได้เสนอเรื่องขออนุมัติไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเร่งด่วนต่อไป ซึ่งในการจัดกิจกรรมฯ วันที่ 14 ก.ค. นี้ ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มปากพนัง และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรีธรรมราช และหน่วยงานภาคเอกชนจะสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ

นายสำรอง อินเอก หัวหน้ากลุ่มบริการจัดการประมง รักษาการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ผลสรุปการประชุมสรุปได้ว่า โดยสรุปในขณะนี้ทางกรมประมงได้รับรายงานว่ามีการแพร่ระบาดของหลาหมอคางดำแล้ว 16 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ละจังหวัดได้เสนอของบประมาณไปยังกรมประมง เพื่อดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำ ตามมาตรการที่กำหนด ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอขอไปรวม 2.9 ล้านบาท ยังไม่ทราบว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ เมื่อไหร่ และจำนวนเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ไดนิ่งนอนใจ เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วน จึงร่วมกันกำหนดไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำเป็นปฐมฤกษ์ในวันวันที่ 14 ก.ค. นี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จากหลายอำเภอจะมาร่วมกิจกรรมไล่ล่าจับปลาหมอคางดำประมาณไม่น้อยกว่า 200 คน ซึ่งจะจัดเรือพาย เรือหางยาวขนาดเล็กติดเครื่องยนต์ เรือยางของกรมประมง รวม 20 ลำไว้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจากต่างอำเภอที่จะมาร่วมจับปลา รวมทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ส่วนประชาชนที่สามารถนำเรือพาย เรือหางยาวขนาดเล็กมาร่วมกิจกรรมด้วยก็ได้ ผู้ที่จับได้จะนำกลับบ้านไปประกอบอาหาร หรือแปรรูปในลักษณะต่างๆ ก็ได้ หรือจะขายก็จะมีการจัดตั้งรับซื้อแบบคละไซซ์ กิโลกรัมละ 10 บาท

“คาดว่าในวันดังกล่าวจะสามารถจับปลาหมอคางดำได้รวม 2-3 ตัน การร่วมมือกันจัดกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งทางประมงจังหวัดจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงภัยร้ายจากปลาหมอคางดำ และเชิญชวนประชาชนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันไล่ล่าจับปลาหมอคางดำในวันที่ 14 ก.ค. นี้” นายสำรอง กล่าว

หลังจากนั้นนายไพโรจน์ รัตนรัตน์ ได้นำคณะผู้สื่อข่าวเดินทางไปสำรวจตรวจสอบพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสียโครงการชลประทาน เพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐ พบชาวบ้านทั้งในพื้นที่และเดินทางมาจากต่างอำเภอเข้ามาจับปลาหมอคางดำไปบริโภคและจำหน่ายกันหลายราย ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นปลาหมอคางดำ มหันตภัยจากต่างถิ่น คิดว่าเป็นปลาหมอหรือปลานิล ลูกผสมพันธุ์ใหม่ และมีการเรียกชื่อหลายชื่อ อาทิ ปลาหมอคางดำ ปลาหมอสีคำ ปลานิลแก้มดำ ปลานิลคางดำ ปลาหมอเทศคางดำ เป็นต้น ที่ผ่านมาปลาหมอพื้นที่โครงการชลประทาน เพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐ กลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว จึงไม่เห็นด้วยที่ทางราชการจะกำจัดปลาหมอคางดำด้วยวิโปรยกากชา หรือใช้สารเคมีเพื่อฆ่าให้ตายยกบ่อ แต่เห็นด้วยในการระดมจับด้วยเครื่องมือประมงชนิดต่างๆ โดยพวกตนที่มีอาชีพจับปลาหมอคางดำขายอยู่แล้วจะเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 14 ก.ค. นี้ ด้วยอย่างแน่นอน

ในขณะที่ นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า เดิมจะกันพื้นที่มาจัดกิจกรรมในวันที่ 14 ก.ค. ประมาณ 40 ไร่ แต่ในที่ประชุมสรุปว่าจะระดมไล่ล่าจับในเนื้อที่บ่อบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 184 ไร่ โดยจะไม่ใช้กากชาหรือสารเคมีมาโปรยหว่านในน้ำ เพราะจะส่งผลกระทบกับสัตว์ย้ำชนิดอื่นๆ ที่สำคัญหากปลาหมอคางดำลอยตายจำนวนมากจะทำให้น้ำเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็นส่งผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม การจับปลาหมอคางดำจึงใช้วิธีการอื่นๆ เช่น ทอดแห ยกยอ ดักอวน ลากอวน เป็นต้น โดยสิ่งที่จะต้องคิดต่อไปหลังจากนี้ คือ จะหางบประมาณสนับสนุนกิจกรรมครั้งต่อไปจากที่ไหน โดยในพื้นที่ อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร จะต้องเร่งดำเนินการก่อนฤดูฝนที่นำจะท่วมทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จนยากต่อการกำจัดให้หมดแปจากพื้นที่ได้ หากรัฐบาลไม่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ จังหวัดก็ต้องเร่งประกาศพื้นที่เขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาได้ ก่อนที่รัฐบาลกลางจะอนุมัติงบประมาณ.