เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 1 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา–ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) ที่ จ.นครราชสีมา ว่า ขณะนี้โครงการยังติดปัญหาใน 2 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ช่วงบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) บ้านท่ามะนาว อ.ปากช่อง ความยาว 900 เมตร ในช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ซี่งปัจจุบันในส่วนที่เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามทางรถไฟ ความยาว 400 เมตร เสร็จสิ้นแล้ว แต่ส่วนที่เหลือที่เป็นถนนทางราบ (At-grade) อีกประมาณ 500 เมตร ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดินของเอกชน เนื่องจาก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินหมดอายุไปตั้งแต่ปี 64 สร้างต่อไม่ได้ จึงต้องเวนคืนด้วยวิธีการเจรจาปรองดอง ซึ่ง รฟท. กำลังขออนุมัติงบประมาณเวนคืนเพิ่มเติม 197.38 ล้านบาท หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ความเห็นชอบ ก็จะเร่งดำเนินการได้ต่อในเดือน ต.ค. 67 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ธ.ค. 68

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า และจุดที่ 2 บริเวณสะพานสีมาธานี ในช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้ว อยู่ระหว่างการแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ข้ามสะพานสีมาธานี ระหว่างสถานีโคกกรวด–ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 16 กม. และปรับกรอบวงเงิน รฟท. คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในเดือน ส.ค. 67 จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ก.ย.-ต.ค. 67 ก่อนจะดำเนินการก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 3 ปี หรือจะแล้วเสร็จประมาณปี 71 ทั้งนี้ได้เร่งรัด รฟท. ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 จุดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งหากทั้งโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา จากเดิม 3 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมง

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาพรวมด้านงานโยธา สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา–คลองขนานจิตร คืบหน้า 96.36% ช้ากว่าแผน 3.64% และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์ มีความคืบหน้า 95.36% ช้ากว่าแผนงาน 4.64% อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น รฟท. จะพยายามเร่งรัดให้สามารถนำร่องเปิดเดินรถทางคู่สายอีสาน โดยใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดิมช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร ระยะทาง 29.7 กม. ได้ประมาณเดือน ก.ค. 67 และช่วงมาบกะเบา-มวกเหล็กใหม่ระยะทาง 13.20 กม. ในเดือน ส.ค. 67

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทางรวม 250.77 กม. ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 71 โดยขณะนี้ภาพรวมความคืบหน้าโครงการฯ ณ เดือน พ.ค. 67 อยู่ที่ 33.48% เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 60 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา.